ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทิศทางร้านค้าเมื่อกลยุทธ์เปลี่ยน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แผนการทยอยปลดล็อคมาตรการ Lockdown ของภาครัฐ ที่ในเบื้องต้นคาดว่าร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะเปิดบริการวันที่ 4 พ.ค. 63 และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่จะเปิดบริการ 1 มิ.ย. 63 นั้น ทิศทางร้านค้าปลีกหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร
แม้ว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกมีโอกาสกลับมาสร้างรายได้ผ่านช่องทางหน้าร้านอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกหลังจากนี้ โดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแรงต่อเนื่อง และความไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย หากโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดรอบ 2 จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลและอาจจะออกมาใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
ทั้งนี้ หากไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ภายในครึ่งปีแรก และไม่เกิดการระบาดใหม่รอบ 2 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาพรวมการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 น่าจะยังคงหดตัวราว 5-8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะค้าปลีกที่ขายสินค้าไม่จำเป็น/ฟุ่มเฟือย เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเฉพาะอย่างวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงและกลับมาฟื้นตัวได้ช้ากว่าค้าปลีกที่เน้นขายสินค้าจำเป็นพวกอุปโภคบริโภคอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ของโมเดิร์นเทรด ผู้ผลิตสินค้า และ Social Commerce
วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ อาจนำไปสู่การปรับรูปแบบการทำธุรกิจค้าปลีกที่เห็นภาพชัดขึ้น โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานทางด้านความสะอาดและความปลอดภัยต่อสุขภาพ จะกลายมาเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น ควบคู่ไปกับการรุกตลาดออนไลน์ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ทั้งในแง่ของสินค้าและคุณภาพการให้บริการ ภายหลังจากที่ผู้บริโภคเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ จากการกักตัวและทำงานที่บ้าน และกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่เคยชินจนเป็นเรื่องปกติ