สรุปข่าวเศรษฐกิจโลกรอบสัปดาห์
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics ชี้มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงในการประชุม FOMC ในสัปดาห์นี้ ด้านกรอบค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.0 ถึง 35.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี จะอยู่ในกรอบ 1.8-2.0% ในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่อนคลายนโยบายการเงินมากกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ตัวเลขการส่งออกจีนยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงไปอยู่ที่ระดับ 0% พร้อมทั้งให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์รอบใหม่ และยังเพิ่มปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์เป็น 80 พันล้านยูโรต่อเดือน สำหรับเศรษฐกิจเอเชีย การส่งออกของจีนในเดือนก.พ. หดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดถึง 25.4% จากผลของวันหยุดและอุปสงค์ของโลกที่ชะลอตัว ขณะที่จีดีพีไตรมาสสุดท้ายปี 2015 ของญี่ปุ่นยังหดตัว 0.3%
สำหรับสัปดาห์นี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มีความเห็นว่าการประชุมของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะเป็นปัจจัยที่ตลาดให้ความสนใจมากที่สุด โดยเราคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพฤหัสนี้ แต่อาจออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในปี 2016 ลงเนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ในขณะที่เราคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ระดับ -0.1% และคงปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ 80 ล้านล้านเยน ในการประชุมวันอังคารนี้ อย่างไรก็ตามเรายังเชื่อว่าโอกาสที่ BOJ จะออกนโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีอยู่
ด้านมุมมองตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 35.07 หรือแข็งค่าขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยเป็นการแข็งค่าขึ้นตามกระแสเงินทุนที่เริ่มไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียและนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อตราสารหนี้ไทยต่อเนื่อง สำหรับสัปดาห์นี้ศูนย์วิเคราะห์ฯ แนะนำให้ติดตามผลการประชุมของ Fed ในวันพฤหัส แม้เราจะเชื่อว่า Fed อาจจะออกมาปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ลง แต่ค่าเงินดอลลาร์อาจไม่อ่อนค่าลงมากเนื่องจากตลาดรับรู้ข่าวไปก่อนหน้านี้บ้างแล้วและนักวิเคราะห์เศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็มองการขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ทำให้เรากลับมองว่า เพียง Fed ยังยืนยันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ดอลลาร์อาจเริ่มแข็งค่ากลับขึ้นมาได้ โดยเราคาดว่าค่าเงินบาทจะซื้อขายในกรอบ 35.0 ถึง 35.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้
ด้านตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.98% (+11bps) ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.92-1.94% (-2bps) และดอกเบี้ยสวอป 10 ปี อยู่ที่ 2.20% (-8bps) โดยเรายังเห็นว่ามีแรงซื้อตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องทั้งตราสารหนี้ระยะสั้นจากนักลงทุนต่างชาติและตราสารหนี้ระยะยาวจากสถาบันในประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกดดันให้บอนด์ยิลด์ของไทยไม่ปรับตัวขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก ในสัปดาห์นี้การประชุมของ Fed ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้า Fed ออกมาปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราดอกเบี้ยลงอีก บอนด์ยิลด์ทั้งในสหรัฐฯ และไทยก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลงต่อได้ โดยในช่วงสัปดาห์นี้และศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี จะอยู่ในกรอบ 1.8-2.0%.