ตลาดรถปีนี้หด 10%
ปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศ น่าจะยังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงสูง ส่งผลให้อาจหดตัวได้ถึง 5% ถึง 10% หรือคิดเป็นจำนวนยอดขายรถยนต์ประมาณ 720,000 ถึง 760,000 คัน โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 มีโอกาสหดตัวสูง เนื่องจากมีการเร่งซื้อรถยนต์บางกลุ่มไปก่อนหน้าแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 เพื่อเลี่ยงผลจากการปรับขึ้นราคารถยนต์ตามหลังการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559
ภายใต้สภาวะตลาดที่ท้าทายต่อเนื่องอีกปีนั้น คาดว่า ค่ายรถยนต์จะดำเนินกลยุทธ์หลายด้านเพื่อรักษาผลการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนอกจากการผลักดันยอดส่งออกแล้ว ค่ายรถยนต์คงจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าศักยภาพผ่านการออกรถยนต์รุ่นใหม่ๆ และการปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ด้วยกลยุทธ์ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า รถยนต์ในกลุ่ม SUV ขนาดเล็ก (B-SUV) อีโคคาร์ และปิกอัพ อาจทำตลาดได้ดีกว่ารถยนต์ประเภทอื่น โดยคาดว่ายอดขายรถ B-SUV ในปี 2559 อาจมีโอกาสทรงตัวจากปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ราว 33,000 คัน ขณะที่รถยนต์อีโคคาร์และรถปิกอัพ 1 ตัน มีโอกาสหดตัวไม่เกิน 7% หรือคิดเป็นยอดขายรถอีโคคาร์ไม่น้อยกว่า 82,000 คัน และยอดขายรถปิกอัพ 1 ตัน ไม่น้อยกว่า 300,000 คัน
ปี 59 ตลาดในประเทศยังคงเผชิญความเสี่ยงสูง อาจหดตัวได้ถึง 5% ถึง 10%
จากสถานการณ์ตลาดที่มีแรงกดดันสูงอย่างต่อเนื่องมาจากปี 2558 ส่งผลให้คาดว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2559 จะมีโอกาสหดตัวลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งปิดปีด้วยยอดขาย 799,592 คัน หรือหดตัวกว่า 9% จากปี 2557 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในปีนี้มีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงหดตัว 5% ถึงร้อยละ 10% หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 720,000 ถึง 760,000 คัน ทั้งนี้การปรับอัตราภาษีสรรพสามิตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 มีผลบวกต่อยอดขายรถในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ค่อนข้างมาก ทำให้หดตัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมาตลอดตั้งแต่ต้นปีที่หดตัวในระดับตัวเลข 2 หลักมาโดยตลอด โดยเฉพาะในรถบางกลุ่มที่ขายได้ดีมากในช่วงปลายปี เช่น กลุ่มรถกระบะดัดแปลง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเร่งซื้อรถยนต์ก่อนที่ราคาจะปรับขึ้นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ช่วงต้นปี 2559 ทำให้มีแนวโน้มจะเผชิญภาวะหดตัวสูงได้ โดยสถานการณ์ต่างๆ น่าจะเริ่มทยอยดีขึ้น หลังการประกาศราคารถยนต์ของค่ายต่างๆ มีความชัดเจนขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ในปี 2559 ยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยลบสำคัญหลายประการ เช่น ภัยแล้งที่น่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคายาง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง ความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อที่ยังคงดำเนินต่อ ภาคการส่งออกที่ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และยังรวมไปถึงการทยอยปรับขึ้นราคารถยนต์ในปีนี้เพื่อรับกับภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในระดับราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสนบาท ซึ่งอาจกระทบต่อยอดขายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกค่อนข้างมากหลังจากเสร็จสิ้นช่วงส่งมอบรถยนต์ที่ได้รับการจองในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยราคาที่ปรับขึ้นในช่วงที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแรงย่อมกระทบต่อยอดขายรถยนต์ไม่มากก็น้อยขึ้นกับระดับราคาที่ปรับขึ้น ความสามารถในการซื้อและความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
SUV ขนาดเล็ก อีโคคาร์ และปิกอัพ ปี 59 อาจทำตลาดได้ดีกว่ารถประเภทอื่น
ท่ามกลางปีที่สภาพตลาดรถยนต์ยังคงมีความยากลำบากดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ค่ายรถยนต์จำเป็นต้องพยายามรักษาผลการดำเนินธุรกิจโดยอาศัยกลยุทธ์หลายด้านประกอบกัน ซึ่งนอกจากการมุ่งผลักดันยอดส่งออกแล้ว ค่ายรถยนต์คงจะเน้นการเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงหรือฐานลูกค้าที่ยังพอได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการนำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ในกลุ่มประเภทรถยนต์ที่ยังคงมีศักยภาพ พร้อมทั้งเน้นความคุ้มค่าด้านราคาและสมรรถนะ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ภาษีรถคันแรกเริ่มปลดล็อกในปีนี้เป็นปีแรก (สำหรับผู้ที่ซื้อในปี 2554) ก็อาจจะเป็นโอกาสสำหรับค่ายรถและลีสซิ่งต่างๆ ที่จะนำเสนอแคมเปญส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นกลุ่มลูกค้าศักยภาพที่ต้องการเปลี่ยนรถใหม่ในปีนี้
เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มรถยนต์ที่ยังคงมีศักยภาพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า รถยนต์ในกลุ่ม SUV ขนาดเล็ก (B-SUV) อีโคคาร์ และปิกอัพ 1 ตัน เป็นกลุ่มที่อาจมีปัจจัยบวกเกื้อหนุนให้สามารถทำตลาดได้ดีกว่ารถประเภทอื่น ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดที่มีความยากลำบากในปีนี้ โดยในส่วนของ B-SUV ได้รับปัจจัยบวกจากการที่ปัจจุบันผู้ซื้อรถโดยเฉพาะผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ นิยมรถที่สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น และการที่มีปรับการขนาดรถอเนกประสงค์ให้เล็กลง ส่งผลให้ระดับราคาลดลง ทำให้สามารถครอบครองได้ง่ายขึ้น สำหรับรถอีโคคาร์นั้น ได้แรงหนุนจากปัจจัยเรื่องราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลง และบางรุ่นในกลุ่มอีโคคาร์เฟส 2 ยังมีการปรับลดราคาลงด้วย ส่วนรถปิกอัพนั้น ได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมไปถึงราคารถปิกอัพส่วนใหญ่ที่ปรับเพิ่มไม่มาก
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมายังพบว่า อัตราการขยายตัวของยอดขายรถอีโคคาร์และรถปิกอัพ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยรวมแล้วมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ขณะที่รถ B-SUV ขยายตัวสูงมาตลอดปี และมีการหดตัวลงใกล้เคียงกับรถอีโคคาร์ และปิกอัพ ในเดือนมกราคม 2559 ซึ่งเป็นการหดตัวน้อยเมื่อเทียบกับรถประเภทอื่น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ค่ายรถยนต์มีแนวโน้มจะชูรถยนต์ในกลุ่มดังกล่าว และปรับใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อสำหรับลูกค้าศักยภาพที่มีกำลังซื้อรถเหล่านี้ในปี 2559 นี้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
– รถ B-SUV การนำเสนอความสามารถในการใช้งานที่หลากหลายของรถ พร้อมโปรโมชั่นที่น่าสนใจ เพื่อรองรับต่อระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นของรถ B-SUV เพื่อดึงดูดลูกค้าที่ต้องการประโยชน์ใช้งานที่เพิ่มขึ้น แม้ขนาดเครื่องยนต์ของรถจะน้อยกว่ารถซีดานในระดับราคาเดียวกัน
– รถอีโคคาร์ ด้วยปัจจัยบวกจากระดับราคาที่ไม่ได้ปรับขึ้น และมีบางรุ่นระดับราคาปรับลดลงด้วย ทำให้อาจไม่ต้องเน้นการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดเท่ารถประเภทอื่น แต่ค่ายรถคงจะมีการนำเสนอรถรุ่นใหม่ๆ หรือรุ่นไมเนอเชนจ์ออกมาสู่ตลาด เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อมากขึ้น รวมถึงนำเสนอให้เห็นประโยชน์ของการถือครองที่คุ้มค่ากับราคา
– รถปิกอัพ 1 ตัน รถปิกอัพส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก และผู้ผลิตบางค่ายก็ปรับตัวโดยออกรถปิกอัพที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำลงเพื่อลดผลกระทบด้านราคาจากภาษีสรรพสามิตใหม่ นอกจากเรื่องราคา ค่ายรถอาจเน้นออกโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดโดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบมากจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น บางจังหวัดในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ขณะที่ความจำเป็นเรื่องโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาดอาจลดลงได้บ้างในบางจังหวัดที่มีการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนสูง ซึ่งจะมีความต้องการรถประเภทนี้มาก
จากทิศทางและการปรับตัวดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะทำให้ยอดขายรถ SUV ขนาดเล็ก (B-SUV) ปี 2559 นี้ อาจมีโอกาสทรงตัวจากปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ราว 33,000 คัน ขณะที่รถยนต์อีโคคาร์และรถปิกอัพ 1 ตัน มีโอกาสหดตัวไม่เกิน 7% ซึ่งคาดว่าจะเป็นการหดตัวที่น้อยกว่ายอดขายรถประเภทอื่นๆ และเมื่อคิดเป็นจำนวนยอดขายรถยนต์ รถอีโคคาร์น่าจะมียอดขายไม่น้อยกว่า 82,000 คัน และรถปิกอัพ 1 ตัน จำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คัน
นอกจากการชูกลุ่มรถยนต์ศักยภาพดังกล่าวข้างต้น ค่ายรถยนต์ก็ยังน่าจะมีการปรับตัวสำหรับกลุ่มรถยนต์ประเภทอื่น โดยการปรับหรือออกโมเดลรถยนต์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าพร้อมๆ กับลดผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาจำหน่ายจากประเด็นภาษีสรรพสามิต เช่น ค่ายรถยนต์อาจจะมีการปรับลดขนาดเครื่องยนต์ของกลุ่มรถกระบะดัดแปลง (PPV) ลง เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างมากจากปีก่อน หรือการออกโมเดลใหม่ของรถยนต์ซีดานที่เน้นรูปลักษณ์ความเป็นสปอร์ตเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ ดังกล่าว น่าจะทำให้ค่ายรถประคองผลการดำเนินธุรกิจในปีนี้และเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของตลาดในอนาคต.