‘ฮาบิแททฯ’ตัดขายที่ดินแปลงใหญ่รักษาเงินสด
“ฮาบิแทท กรุ๊ป”ปรับแผนธุรกิจรับมือวิกฤตโควิด-19 หวั่นลากยาวเหนื่อยแน่ ชู 3 กลยุทธ์บริหาร ดึงระบบออนไลน์หนุนการขาย จ่อตัดขายที่ดิน ชะลอเลื่อนเปิดโครงการออกไปปี 64 หวังรักษาเงินสดในมือป้องกันความเสี่ยง
นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด ผู้นำด้านการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับพรีเมียมเพื่อการลงทุนของไทย นำเสนอบริการ ที่”สร้างผลตอบแทน”ให้กับเจ้าของ“สินทรัพย์” ผ่านรูปแบบการรับผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อ เปิดเผยถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า หากภายใน 1-2 เดือนข้างหน้าการติดเชื้อลดลง และภายในเดือนพฤษภาคมดีขึ้น โรงแรมต่างๆที่ถูกปิดเริ่มกลับมาเปิดได้ และเชื่อว่าคนไทยก็อยากกลับมาท่องเที่ยวเหมือนเดิม
โดยแนวทางการรับมือของบริษัทฮาบิแททฯในช่วง 2-3 เดือนนี้ แยกออกเป็น ใช้สื่อออนไลน์เข้าช่วยในเรื่องการขาย รวมถึงกิจกรรม(อีเวนท์)ในต่างประเทศ นำระบบออนไลน์เข้ามาช่วย เพื่อให้ลูกค้าต่างชาติได้ชมโครงการ และ 2.การบริหารเงินสด ต้องถือเงินสดให้มากที่สุด โดยแปลงที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการต่อๆไป หากตลาดอสังหาฯไม่ชัดเจน ก็จำเป็นตัดขายที่ดินบางส่วนออกไปเช่น ในพัทยา มี 2 แปลง บางแปลงก็หาผู้ร่วมทุน หรือขายออกไป เพื่อแปลงสินทรัพย์ให้เป็นกระแสเงินเข้ามาบริษัท ซึ่งมีบางแปลงที่เริ่มประกาศขายที่ดินแล้ว 3.พิจารณาโครงการที่มีอยู่ จะไปเร่งรัดโครงการไหน หรือทบทวนโครงการที่จะเปิดในปีนี้ เช่น โครงการในพัทยา ถ้าภาวะไม่เหมาะสม ก็เลื่อนไปทำตลาดในปี 2564 แทน
“หากสถานการณ์ลากยาวออกไปอีก เราเหนื่อยแน่ ทำให้เราต้องหาเครื่องมือทางการเงินในรูปแบบอื่นๆ ที่อาจจะไม่ใช่จากธนาคารเข้ามาช่วย หรือที่ดินบางแปลงหาผู้ร่วมทุนใหม่ๆเข้ามา หรือแปลงรูปแบบการพัฒนาจากโครงการคอนโดมิเนียม มาเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ หรือ โรงแรม สิ่งเหล่านี้ คือเป็นเรื่องของแผนธุรกิจที่เราต้องมาคิดกัน แต่ยอมรับว่า โครงการแบบการสร้างรายได้ประจำนั้น ต้องใช้กระแสเงินสดที่ ก็อาจจะมีเรื่องของพันธมิตรเข้ามา”
สำหรับการพัฒนาโครงการที่ให้บริการในรูปแบบคอนโดเทลว่า บริษัทฮาบิแททฯ ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องการจ่ายยิลด์ให้กับเจ้าของห้องชุด ซึ่งเราจ่ายเป็นรายเดือน วงเงินไม่ได้เยอะ ในแง่ธุรกิจ ฮาบิแททฯมีกระแสเงินสดที่เพียงพออยู่ แต่ในการทำธุรกิจรูปแบบอินเวสเมนต์คอนโดฯนั้น การทำโครงการเป็นตัวเลขที่ใหญ่กว่า
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2563 นั้น นายชนินทร์ กล่าวว่า ปีนี้ เราโชคดีที่มี 4-5 โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ มูลค่าที่เราจะโอนได้ในปีนี้ 2,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 150% เฉลี่ยไตรมาสละ 500 ล้านบาท ซึ่งต่างจากปี 2562 บริษัทมียอดโอนกรรมสิทธิ์เพียง 1 โครงการ มูลค่าโครงการ 800 ล้านบาท ขณะที่เป้าการขายปี 63 วางไว้เบื้องต้น 1,000-2,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีตัวเลขการเติบโตอยู่ (ปี 62 ยอดขาย 1,000ล้านบาทเศษ) โดยต้องประเมินสถานการณ์และโอกาสของการเปิดโครงการใหม่ได้มากน้อยเพียงใด ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายรอบันทึกเป็นรายได้ (แบ็กล็อก) 3,500 ล้านบาท จะรับรู้รายได้ในปีนี้มูลค่า 2,000 ล้านบาทและรับรู้ในปีถัดไป.