เกษตรกรสหรัฐฯ ลุยปลูกสมุนไพรจีน
การขยายตัวของความสนใจในยาสมุนไพรจีนในสหรัฐฯ ช่วยสร้างตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ทำกำไรงามให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรหลากชนิด
ในขณะที่แพทย์แผนโบราณจีนส่วนใหญ่นิยมนำเข้าสมุนไพรจากจีน แต่กลับมีความกังวลมากขึ้น เกี่ยวกับคุณภาพ และความปลอดภัยของสมุนไพรที่นำเข้า ส่งผลให้ความต้องการ ในสมุนไพรที่ปลูกได้ในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ในหลายรัฐของประเทศสหรัฐฯ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการทดลองปลูกพืชที่ได้รับความนิยมนำมาใช้เป็นสมุนไพรมากที่สุด
นางสาวจีน กิแบล็ต นักวิจัยซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มนิวยอร์ก กล่าวว่าเรื่องนี้ ทำรายได้ให้กับผู้ปลูกได้จริงๆ เธอประเมินว่าตลาดสำหรับ การปลูกพืชสมุนไพรในสหรัฐฯ มีมูลค่าราว 200-300 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 7,000-10,500 ล้านบาท (35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
ในปัจจุบัน การรักษาโรคด้วย การแพทย์แผนโบราณจีนได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในสหรัฐฯ มีแพทย์แผนจีนที่มีใบประกาศรับรองคุณวุฒิในการรักษาถึง 30,000 คนทั่วสหรัฐฯ โดยใน 46 รัฐจะออกใบประ กาศรับรองให้กับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท และต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก ในปี 2557 มีคลินิกในคลีฟแลนด์ที่เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลแห่งแรกๆ เปิดทำการรักษาคนไข้ด้วยการแพทย์แผนโบราณจีน
นายเจมี่ สตาร์กี้ ผู้ที่ได้รับใบประกอบโรคศิลป์ทางการฝังเข็ม และแพทย์แผนโบราณจีน ประจำศูนย์บูรณาการทางการแพทย์คลินิกคลีฟแลนด์กล่าวว่า คุณภาพ ลักษณะที่ถูกต้องแท้จริง และความบริสุทธิ์เป็นคุณสมบัติสำคัญของสมุนไพร
“ถ้าผู้ปลูกในสหรัฐฯ สามารถผลิตสมุนไพรคุณภาพสูงทัดเทียมกับสมุนไพรจากจีน โดยที่ไม่มีสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง และโลหะหนัก ผมเชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรในสหรัฐฯ”
ทั้งนี้มีพืชสมุนไพรมากกว่า 300 ชนิดที่ถูกนำมาใช้ในการ แพทย์แผนโบราณจีน โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติรายงานว่า เทคนิคการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณจีน ซึ่งรวมถึงการฝังเข็ม และการรำมวยไท่เก๊กนั้น ถูกจัดเป็นส่วนประกอบในการรักษาของการแพทย์กระแสหลักไปแล้ว
นางสาวจีน กิแบล็ต ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิไฮฟอลส์ในนิวยอร์กฮัดสันวัลเลย์เมื่อปี 2551 เพื่อส่งเสริมการวิจัย และอนุรักษ์พืชที่ใช้เป็นยารักษา ให้ความเห็นว่า การปลูกภายใต้เงื่อนไขเดียวกับพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะผลิตพืชทางการแพทย์ให้มีคุณภาพสูง ทางมูลนิธิจะผลิตสมุนไพรที่มีคุณลักษณะที่ถูกต้องตามสายพันธุ์แท้จริง และใบประกาศรับรองทางการแพทย์แผนจีน
นายร็อบ เกล็น ประธานศูนย์บลูริดจ์เพื่อการแพทย์จีนในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ให้ข้อมูลจากผลวิจัย ทางการตลาดว่า ตลาดสมุน ไพรในสหรัฐฯ มีอุปสงค์สูงแต่อุปทานต่ำ
“ปัจจุบัน สมุนไพรจากจีนไม่มีคุณภาพเหมือนกับแต่ก่อนแล้ว และแพทย์แผนจีนในสหรัฐฯ ชี้ว่าพวกเขาพร้อมจ่ายให้กับสมุนไพรออร์แกนิกที่มีประสิทธิภาพในราคาที่สูงขึ้น”
ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจจากคณะกรรมการฟื้นฟูยาสูบในภูมิภาค ศูนย์บลูริดจ์ได้ช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่นให้ปลูกพืชสมุนไพร โดยทางองค์กรจะพัฒนา และขายให้กับแพทย์แผนจีน โดยในปีนี้ ทางศูนย์ได้ปลูกสมุนไพร 38 ชนิดใน 35 ฟาร์ม
ทางศูนย์ส่งตัวอย่างจากการเก็บเกี่ยวครั้งแรกไปให้แพทย์แผนจีน 26 คน ซึ่งยอมรับที่จะประเมินคุณภาพ และประสิทธิภาพของสมุนไพรเหล่านี้
นายเคน มอร์เฮด แพทย์แผนจีนที่โอเรียนทัล เฮลธ์ โซลูชั่นส์ในเดอร์แฮม รัฐนอร์ธ แคโรไลนา ให้ความเห็นว่า เราประทับใจมากกับตัวอย่างที่เราได้รับ เราต้องการสมุนไพรออร์แกนิกที่สะอาด ผมคิดว่าเกษตรกรมีความสามารถ และเรามีอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาพของประชาชน”
โดยนายเกล็น ตั้งเป้าแนะนำชนิดของสมุนไพรที่จะหนุนให้รายได้ของผู้ปลูกสูงถึง 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 525,000 บาทต่อปี ซึ่งคิดเป็น 2 เท่าของรายได้ เกษตรกรในพื้นที่ที่เพาะปลูกไม่ได้ผล
อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายนี้ เกษตรกรจะต้องอุทิศตน ในการเพาะปลูกถึง 8 ปี เนื่องจากพืชบางชนิดใช้เวลาหลายปีกว่าจะโตได้ขนาดที่ขายได้ในตลาด ผลตอบแทนสูงสุดจากการลงทุนจึงคืนกลับมาในเวลาค่อนข้างนาน