ยุคของพลังงานจากถ่านหินกำลังจะหมดลง
องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) รายงานว่า จีนเผชิญกับความต้องการใช้ถ่านหินสูงที่สุดเป็นครั้งแรก ภายหลังจากเศรษฐกิจที่ลดความร้อนแรงลง และการเปลี่ยนทิศทางอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับการบริโภค ขณะที่อินเดียกลับเป็นผู้บริโภคที่สวนกระแสของโลกขึ้นมา
จีนเป็นประเทศที่บริโภคถ่านหินมากที่สุดของโลก แต่ก็มีความพยายามในการดำเนินการลดการปล่อยควันจากเชื้อเพลิงชนิดนี้ลง โดยจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานอื่นทดแทน ทางรัฐบาลจีนตั้งเป้าที่จะดำเนินการกำจัดหมอกควันที่ปกคลุมในเมืองใหญ่ที่สำคัญของจีนให้หมดไปในอนาคตอันใกล้
IEA รายงานเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตลาดระยะกลางถึงปี 2563 ว่า “ยุคทองของการใช้พลังงานถ่านหินในจีนดูเหมือนจะจบลงแล้ว” โดยรายงานเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ความต้องการใช้ถ่านหินผันแปรไปตามภาวะตลาดบ้านที่ซบเซา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรายงานไม่ได้รวมถึงการประมวลผลจากการประชุมสภาพอากาศในกรุงปารีสเมื่อเดือนธ.ค.ก่อนหน้านี้ ที่เหล่าผู้นำประเทศเห็นพ้องในมาตรการที่จะต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลภาวะร่วมกัน
แต่นายเฟธ บิรอล ผู้บริหารระดับสูงของ IEA กล่าวในระหว่างการนำเสนอรายงานในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ว่า หากอ้างอิงจากข้อตกลงกรุงปารีส การลงทุนในโครงการที่ใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาในปริมาณมากจะมีความเสี่ยงสูง เขากล่าวว่า
“นักลงทุนสามารถทำอย่างที่พวกเขาต้องการได้ แต่ผมเห็นว่า จะมีแรงกดดันมากขึ้นในการลงทุนที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนสูงในอนาคต พลังงานทดแทนกำลังจะกลายเป็นเชื้อเพลิงในกระแสหลัก จากราคาที่ลดลง และการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลในแต่ละประเทศ จะทำให้พล้งงานทดแทนกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมจากเหล่านักลงทุน” ความต้องการใช้พลังงานถ่านหินที่ลดลงกว่าที่คาดการณ์ เกิดจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ลดฮวบลงในอุตสาหกรรมหนัก ส่งผลให้ตัวเลขการบริโภคถ่านหินลดลง
IEA รายงานว่าความต้องการใช้ถ่านหินของจีนจะลดลงเหลือ 2,640 ล้านตันในปี 2563 จากปริมาณการใช้เดิมอยู่ที่ 2,843 ล้านตันเมื่อปี 2557
ดังนั้นจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคถ่านหินทั่วโลกลดลงเหลือ 5,509 ล้านตันในปี 2463 จากตัวเลข 5,540 ล้านตันในปี 2557 อ้างอิงจากรายงานของ IEA
แต่หากมีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขที่ล่าช้าออกไป ก็อาจจะทำให้ความต้องการบริโภคถ่านหินกลับมาเพิ่มขึ้นถึง 0.8% ต่อปี กลายเป็น 5,814 ล้านตันในปี 2563 ได้
โดย IEA ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าจากความต้องการที่ชะลอตัว นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และทางเลือกของเชื้อเพลิงที่มีมากขึ้นส่งผลให้ราคาถ่านหินลดต่ำลง ราคาถ่านหินที่ใช้ผลิตความร้อนดิ่งลงถึง 80% โดยราคาเคยพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูง สุดในปี 2551 และได้ปรับลดลงมาอยู่ในระดับเดิมเท่ากับในปี 2547 คือต่ำกว่า 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,575 บาทต่อตัน ( 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ )
ตามรายงานของ IEA คาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคถ่านหินของอินเดียจะมาทดแทนในส่วนที่ลดลงของจีน โดยคิดเป็น 50% ของปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงเวลานี้ คาดว่าตัวเลขความต้องการใช้ถ่านหินในอินเดียจะสูงถึง 149 ล้านตันในปี 2563
“อินเดียมีความต้องการใช้ถ่านหินมากขึ้นและจะกลายเป็นผู้บริโภคอันดับสองของโลก โดยแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นไป” นี่คือความเห็นจากผู้บริหารของEIA
“รัฐบาลอินเดียมีแผนการที่จะจัดหาไฟฟ้าให้กับประชากร 240 ล้านคน และขยายภาคการผลิตให้ใหญ่ขึ้น ดังนั้นการลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหิน และตัวเลขการบริโภคพลังงานจากถ่านหินที่เติบโตขึ้นจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีตัวเลขการบริโภคถ่านหินที่สูงขึ้น แต่ความต้องการในอินเดียก็คงไม่อาจชดเชยปริมาณการบริโภคที่ลดลงของจีนได้
นอกจากนี้ IEA ยังรายงานว่า ในภูมิภาคอาเซียน ก็มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขความต้องการใช้ถ่านหินจะเพิ่มเป็น 218 ล้านตันในปี 2563 ซึ่งจัดว่าเป็น 25% ของความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงเวลานี้
จากข้อมูลในรายงาน การบริโภคถ่านหินของสหรัฐฯ จะลดลงเป็น 75 ล้านตันในปี 2563 ขณะที่ความต้องการในยุโรปจะลดลงไปอยู่ที่ 22 ล้านตัน