กอนช.เร่งแก้ปัญหาน้ำทั่วประเทศ
กอนช. เร่งรัดโครงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ จับตาระวังน้ำเค็มรุกเจ้าพระยาใกล้ชิด 9-11 มี.ค. นี้
กอนช. ประชุมคณะทำงานติดตามความก้าวหน้าปฏิบัติการแก้แล้ง สั่งย้ำหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณแล้วเร่งดำเนินการทันที ขณะที่มาตรการชะลอความเค็มเจ้าพระยาตอนล่างประสบความสำเร็จ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอีกครั้ง 9-11 มี.ค. นี้ พร้อมเร่งรัดพิจารณาวางแผนส่งน้ำฤดูฝนปี 63
ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 4/2563 วานนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2563) ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ กอนช. ที่ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือประชาชน และดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการเร่งแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนและควบคุมสถานการณ์ปัญหาน้ำแล้งอย่างเร่งด่วน โดยโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 แบ่งออกเป็น โครงการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง จำนวน 2,041 โครงการ และโครงการใช้งบประมาณของหน่วยงาน จำนวน 1,337 โครงการ ประเภทของโครงการ อาทิ ขุดเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน ซ่อมแซมระบบประปา วางท่อน้ำดิบ สถานีสูบน้ำ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบที่ได้รับงบประมาณแล้ว เร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและแผนงบประมาณโดยเร็ว พร้อมรายงานความก้าวหน้าให้ กอนช. ทราบทุกสัปดาห์ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งได้ทันท่วงที
สำหรับอีกประเด็นสำคัญซึ่งที่ประชุมได้ร่วมติดตาม คือผลการดำเนินการตามมาตรการยับยั้งหรือชะลอความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ กอนช. ได้สั่งการให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการประปานครหลวง บริหารจัดการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ผ่านแม่น้ำท่าจีนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้เพิ่มอัตราการผันน้ำจากประมาณ 30 ลบ.ม./วินาที เป็น 60 ลบ.ม./วินาที ซึ่งทำให้สามารถลดการระบายน้ำจากตอนบนมายังเขื่อนเจ้าพระยาได้ แม้ระยะที่ผ่านมานี้ในบางช่วงเวลาจะมีลิ่มความเค็มสูงเกินมาตรฐาน แต่กรมชลประทานและการประปานครหลวงก็ได้เร่งแก้ไขโดยการลดปริมาณการสูบน้ำลง พร้อมใช้น้ำจืดที่มีอยู่ผสมเพื่อช่วยเจือจางความกร่อยให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับให้น้ำประปาสามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 วันนี้ อาจมีลิ่มความเค็มเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยมีสาเหตุจากน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ปฏิบัติการอย่างเต็มที่ในการดึงน้ำมาเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานว่าจะมีช่วงที่ต้องเฝ้าระวังความเค็มอีกครั้งคือระหว่างวันที่ 9-11 มี.ค. 63 ซึ่งจะมีการวางแผนรับมือสถานการณ์ร่วมกันต่อไป
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ที่ประชุมยังได้ร่วมพิจารณาแผนการส่งน้ำในฤดูฝนปี 2563 โดยขณะนี้มีสองพื้นที่เร่งด่วนที่ต้องกำหนดยืนยันการส่งน้ำ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยา 12 ทุ่ง และทุ่งบางระกำ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเตรียมพร้อม ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กำหนดยืนยันการส่งน้ำและกำหนดวันที่ส่งน้ำเสนอต่อ กอนช. เพื่อพิจารณาโดยด่วน นอกจากนี้ สำหรับปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำภาคตะวันออก ที่หลายฝ่ายเป็นกังวลนั้น ที่ประชุมก็ได้มอบหมายให้ กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค East water และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำแผนปฏิบัติการจัดการน้ำและแผนบริหารความเสี่ยงที่เป็นรูปธรรม เสนอ กอนช. เพื่อพิจารณาโดยเร็ว เพื่อรองรับสถานการณ์ได้ทันเวลาเช่นกัน โดยขอให้คำนึงถึงการลดการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม การออกแบบรอบเวรการใช้น้ำด้านการเกษตร รวมถึงมาตรการลดการใช้น้ำ
“จากคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปีนี้ประเทศไทยอาจจะเข้าสู่ฤดูฝนล่าช้ากว่าปกติประมาณ 1-2 สัปดาห์ คือประมาณช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และคาดหมายปริมาณฝนช่วง 6 เดือน คือระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ปริมาณฝนรวมจะมีต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 % ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจึงได้เร่งดำเนินการตามแผนอย่างเต็มที่เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ ให้ประชาชนได้มีน้ำใช้ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ตามนโยบายที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มอบหมายไว้ อีกทั้ง ในที่ประชุมวันนี้ได้มีการขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการภายใต้คณะทำงานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ลดปริมาณการใช้น้ำลง 5-10% เพื่อเป็นตัวอย่างของการประหยัดน้ำที่ดี และให้รายงานผลเพื่อเสนอต่อท่านรองนายกรัฐมนตรีได้รับทราบด้วย ทั้งนี้ จะมีการจัดประชุมชี้แจงมอบนโยบายการบริหารจัดการภัยแล้งแบบบูรณาการและเตรียมการเก็บน้ำฤดูฝน ปี 2563 มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 2 มีนาคม ที่จะถึงนี้ด้วย” ดร.สมเกียรติกล่าว