“Farmfactory” ตัวจริงเรื่องสลัด
จุดเริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัวด้วยอาการป่วยของคุณแม่ที่เป็นโรคไตทำให้ “บุญชะนะ เอกวานิช” ได้วิเคราะห์ และพิจารณาหาสาเหตุในช่วงที่ต้องกลับไปดูแลคุณแม่ จนพบว่าปัจจัยสำคัญเบื้องต้นของมนุษย์ก็คืออาหารที่รับประทานทุกวันมีผลทำให้ร่างกายแข็งแรง และไม่แข็งแรงก็ได้ จนทำให้เกิดความสนใจแผนธุรกิจเกี่ยวกับทางด้านอาหารเพื่อสุขภาพ
ประกายไอเดียในการสร้างธุรกิจของบุญชะนะจึงก่อกำเนิดขึ้น โดยในช่วงแรกเป็นการทำฟาร์มผักปลอดสารพิษ หลังจากนั้นจึงเริ่มสร้างธุรกิจแบบเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ศูนย์จนสามารถก้าวต่อไปได้ แม้ว่าระหว่างทางจะประสบกับปัญหามากมาย แต่ก็ต้องถือว่าเป็นข้อดีเพราะเมื่อเจอปัญหาก็จะต้องหาทางพัฒนาธุรกิจมาเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายมาเป็น ฟาร์มแฟคทอรี (Farmfactory) ร้านสลัดที่กล้าฉีกแนวทางการทำธุรกิจจนได้รับการยอมจากผู้บริโภค
–สเปเชี่ยลลิสต์ด้านสลัด
บุญชะนะ ในฐานะผู้ก่อตั้งและประธาน บริษัท ฟาร์มแฟคทอรี เวิร์ล จำกัด บอกว่า โจทย์ของตนก็คือจะต้องทำอย่างไรให้กลายเป็นอาชีพสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีตามไปด้วย เพราะไม่ต้องการให้ผู้อื่นเป็นเหมือนกับคุณแม่ โดยเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด ซึ่งทำให้ตนบอกกับตนเองว่า หากทำแล้วจะต้องทำให้ดี หากทำไม่ดีก็ไม่ต้องทำดีกว่า โดยเมื่อมีความคิดจะต่อยอดธุรกิจให้เป็นร้านจำหน่ายสลัด ตนก็เริ่มคิดการณ์ใหญ่ เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดที่ทำร้านจำหน่ายสลัดอย่างเดียวโดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในตลาดของอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ โดยส่วนใหญ่จะทำร้านเสต๊ก หรือทำร้านอาหารแบบเต็มรูปแบบ และมีสลัดเป็นเมนูเสริม
ทั้งนี้ ตนต้องการสร้างชื่อในรูปแบบที่ลูกค้าสามารถจดจำได้ทันที ดังนั้น ตนจึงต้องการเป็นสเปเชี่ยลลิสต์ทางด้านสลัด เพราะเมื่อผู้บริโภคนึกถึงสุขภาพก็จะต้องคิดถึงสลัด เนื่องจากองค์ประกอบ หรือวัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นผัก ตนจึงเลือกที่จะทำเมนูเดียวนี้ให้เก่งไปเลย ให้ลูกค้าได้ลำรึกว่าเมื่อต้องการทานสลัดจะต้องมาหาเราเป็นลำดับแรก หากนึกภาพก็จะต้องเป็นเหมือนร้านกาแฟเจ้าดังที่คอกาแฟต้องนึกถึงเป็นลำดับแรก เราเองก็ต้องการเป็นเจ้าของสลัด
“เมื่อต้องการสร้างธุรกิจให้เป็นไปในลักษณะดังกล่าว ตนจะต้องทำให้คาร์แรกเตอร์ของร้านชัดเจน ซึ่งก่อนที่จะทำต้องทำการศึกษาขนาดของตลาดว่ามีมูลค่าพอให้เติบโตจนกลายเป็นกระแสได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ความต้องการเฉพาะกลุ่มหรือไม่ โดยไม่ได้ต้องการทำแค่เฉพาะในประเทศไทย ซึ่งเมื่อคิดการณ์ใหญ่กลยุทธ์การทำตลาดจึงต้องใหญ่ตามไปด้วย โดยที่ตนต้องไปศึกษาแบรนด์ระดับโลกว่ามีแนวทางการนำเสนอแบรนด์ หรือวางตำแหน่งทางการตลาดอย่างไร”
–คู่ควรกับลูกค้า
บุญชะนะ บอกต่อไปอีกว่า ด้วยแนวคิดดังกล่าวตนจึงทำเสมือนว่าเป็นแบรนด์ระดับโลกเข้ามาเปิดธุรกิจในไทย โดยทำผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับตำแหน่งทางการตลาด และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งวิเคราะห์แล้วว่าผู้ที่ดูแลสุขภาพส่วนใหญ่เมื่อ 4 ปีที่แล้วจะต้องเป็นผู้มีเงินระดับหนึ่ง โดยตนวิเคราะห์เจาะลึกลงไปทั้งหมดตั้งแต่พฤติกรรม ฐานเงินเดือน หน้าที่การงาน กำลังการใช้จ่ายต่อมื้อ เพื่อทำให้ทุกอย่างคู่ควรกับลูกค้ามากที่สุด ทำให้ลูกค้าเกิดความภูมิใจที่จะเข้ามาใช้บริการ และต้องการถ่ายรูปโพสบอกว่ามาที่ร้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้าเอง
“เราจะต้องดูว่าทำอย่างไรให้เข้าไปอยู่ในระบบนิเวศของแบรนด์ที่ลูกค้าชื่นชอบ ทำให้แบรนด์คู่ควรกับการที่ลูกค้าเต็มใจจะถ่ายรูปโพสเองโดยที่ร้านไม่ต้องทำโปรโมชั่น เพราะตนมองว่าการทำโปรโมชั่นนั้นไม่ยั่งยืน โดยที่ตนก็จะคอยสังเกตุพฤติกรรมของลกค้า เพื่อเก็บข้อมูลและนำมาปรับปรุง สิ่งใดที่ตรงกับที่วิเคราะห์ก็จะขยี้ต่อให้มากขึ้น”
–คาร์แรกเตอร์ชัดเจน
บุญชะนะ บอกอีกว่า สิ่งที่ทำให้ Farmfactory มีความแตกต่างนั้น ลำดับแรกเลยอยู่ที่หน้าตาของอาหารก่อนที่จะรับประทาน ซึ่งตนมองว่าจะต้องเปลี่ยนด้วยตาก่อนที่จะเปลี่ยนด้วยปาก ดังนั้น สลัดของร้านจึงต้องมีคาร์แรกเตอร์ที่จดจำได้ไม่เหมือนกับผู้ใด หลังจากนั้นก็มาถึงการนำเสนอรูปแบบของร้าน โดยจะต้องทำให้ดูเหมือนว่าไม่ใช่แค่ร้านขายผักธรรมดา ตนจึงเกิดไอเดียในการสร้างไลน์บาร์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยประมาณ 5-6 เมตร เพื่อนำสายตาของลูกค้าให้สนใจ และรู้ว่าร้านเราจำหน่ายอะไร
นอกจากนี้ ก็จะเป็นเรื่องของรสชาติอาหาร ซึ่งแน่นอนว่าความร่อยของสลัดขึ้นอยู่กับน้ำสลัดที่ใช้รับประทานคู่กัน ดังนั้น ร้านจึงเลือกที่จะทำน้ำสลัดแบบโฮมเมด หรือเป็นสูตรที่ร้านพัฒนาขึ้นมาเองทั้งหมด โดยจะทำให้มีคาแรกเตอร์รสชาติที่เป็นแบบเฉพาะของทางร้านเท่านั้น พร้อมทั้งพยายามนำเสนอสิ่งใหม่ให้กับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา เพราะตนมีความเชื่อว่าเมื่อได้รับประทานอะไรแล้วติดรสชาติ ลูกค้าจะเกิดความเคยชิน ทำให้ร้านสามารถออกจากการแข่งขันทางด้านราคาได้
“การทำธุรกิจให้ยั่งยืนลำดับแรกจะต้องออกจากตลาดการแข่งขันทางด้านราคาให้ได้ และหากเป็นไปได้จะต้องไม่ทำตามแบบของผู้ใด แต่สามารถศึกษาแนวทางได้ เพราะหากทำตามก็จะไม่มีความแตกต่าง ซึ่งในที่สุดแล้วเราก็จะเป็นได้แค่เบอร์ 2 ไม่แซงเบอร์ 1 ที่ทำมาก่อน ดังนั้น หากต้องการเป็นผู้นำในตลาดเราจะต้องสร้างทางเดินของเราเอง สร้างกติกาขึ้นมาใหม่ โดยผู้ที่จะเข้ามาแข่งขันหากไม่รู้ในจุดนี้ก็จะต้องเป็นผู้ตามเราหรือเลียนแบบเรา ซึ่งก็จะทำให้เราดูมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าอย่างไรผู้บริโภคย่อมแสวงหาร้านต้นตำหรับ หากเรารักษาคุณภาพไม่ให้ตกลงเราก็ยังคงเป็นผู้นำในตลาดอยู่”
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันหากผู้นำปรับเปลี่ยนมาเดินเล่นจากที่เคยวิ่ง เพราะรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จแล้ว หรือลอยลำแล้ว ผู้ที่วิ่งตามเราเดี๋ยวก็แซง เพราะว่าเราหยุดพัฒนา เราจะต้องควบคุมตนเองให้มีการเปลี่ยนแปลงก่อนที่ตลาดจะเปลี่ยนแปลงเรา เพราะเราวางตนเองให้เป็นผู้นำตลาด เราต้องเป็นผู้ควบคุม ดีกว่าให้ผู้อื่นมาควบคุมเรา
-เพิ่มช่องทางการจำหน่าย
บุญชะนะ บอกต่ออีกว่า กลยุทธ์การขยายตลาดของ Farmfactory ปีนี้ มีความตั้งใจที่จะเปิดสาขาให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 10 สาขาในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 7 สาขา แต่ก็จะต้องวิเคราะห์ตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย โดยช่วงไตรมาส 1-2 อาจจะต้องมาดูว่าสาขาใดที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพการขายที่มีอยู่แล้วให้ได้มากขึ้น เพราะมีต้นทุนเท่าเดิมที่จะต้องอยู่แล้ว แต่เราะมีวิธีเพิ่มยอดให้ได้อย่างไร รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับพาสเนอร์อย่างเซเว่นอีเลฟเว่น หรือแฟมิลี่มาร์ท ซึ่งตนไม่ต้องลงทุนเรื่องการเปิดร้านใหม่แต่ได้ช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น
ขณะที่ทางด้านเดลิเวอร์ลี่ร้านก็เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้จัดส่งอยู่แล้วทุกแบรนด์ โดยมองว่าปีนี้ช่องทางดังกล่าวจะยังขยายตัวได้อีกมาก นอกจากนี้ ยังจะมีการเพิ่มความคู่ควรของแบรนด์สำหรับลูกค้าให้ได้มากขึ้น ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 2-3 คาดว่าจะมีการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์เรากับแบรนด์อื่นเพื่อสร้างกลยุทธ์ใหม่ในการทำตลาดทางด้านสุขภาพ
“สิ่งที่เราตั้งใจและเริ่มทำไปบ้างแล้ว คือการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้ลูกค้าได้รู้ว่าสลัดที่รับประทานอยู่มีที่มาที่ไปอย่างไร มาจากสวนผักแปลงไหน เกษตรกรผู้ใดปลูก โดยหวังจะให้เป็นการยกระดับอุตสาหกรรม และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับลูกค้ามากขึ้น เพราะหัวใจสำคัญของเราอยู่ที่ผู้บริโภค ไม่ใช่อยู่ที่การทำอย่างไรให้มีรายได้มาก เนื่องจากตนเชื่อว่าถ้าหากเรามอบสิ่งที่ดีหรือให้สิทธิประโยชน์ และทำอะไรที่ยืนเคียงข้างลูกค้า ลูกค้าก็จะตอบ แทนเรากลับมาเอง” .