“บีโอไอ” ชูแพ็กเกจใหม่อีอีซี ดึง เกาหลีลงทุน
บีโอไอ เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ เน้นนำเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีชุดใหม่ พร้อมอัพเดตความคืบหน้าอีอีซีและกฎระเบียบภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านแรงงานและศุลกากร หวังดึงนักลงทุนเกาหลี
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 22 มกราคม 2563 ที่จะถึงนี้ บีโอไอ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KOTRA) และหอการค้าเกาหลี-ไทย (KTCC) จะจัดสัมมนาการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการเกาหลีในประเทศไทย ณ โรงแรมเคป ดารา รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อนำเสนอโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ และสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซีชุดใหม่ที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดบีโอไอเมื่อปลายปี 2562
พร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กรมศุลกากร กรมการจัดหางาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นำเสนอความคืบหน้าล่าสุด ของโครงการอีอีซี และกฎระเบียบภาครัฐที่ผู้ประกอบการเกาหลีควรทราบ เช่น กฎระเบียบและการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของต่างชาติผ่านระบบ Single Window กฎหมายแรงงาน พิธีการศุลกากรในการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ และการส่งออกสินค้า เป็นต้น รวมทั้งเปิดคลินิกให้คำปรึกษาเฉพาะราย โดยคาดว่าจะมีผู้บริหารจากบริษัทเกาหลี ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก และสมาชิกหอการค้าเกาหลีเข้าร่วมกว่า 200 ราย
“การจัดสัมมนาครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมใหญ่ต่อเนื่องจากการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีมุน แจ-อิน และคณะนักธุรกิจเกาหลีกว่า 100 บริษัท เมื่อเดือนกันยายน 2562 และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะเยือนเกาหลีใต้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งบีโอไอหวังว่าการจัดงานครั้งนี้ไม่เพียงช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจในกฎระเบียบและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่จะช่วยตอกย้ำให้นักลงทุนเกาหลี เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพและตัดสินใจขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่อง” นายนฤตม์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 มีโครงการลงทุนจากเกาหลีใต้ยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 140 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 19,840 ล้านบาท โดยร้อยละ 77 เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ แปรรูปอาหาร และดิจิทัล.