โรงไฟฟ้าถ่านหิน (ภาคใต้) ไปต่อ หรือ พอแค่นี้ ?!
ใครๆก็บอกว่า ภาครัฐ กำลัง “ซื้อเวลา” โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้… เพราะหลังจากเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ เพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เทพา บริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติ เมื่อ 10 ก.พ. 2561 ลาวยาวกว่า 10 วัน
ชาวบ้านในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ทยอยเดินทางเข้ามาสมทบจนแน่น ทะลัก ผู้ประท้วงเกือบ 100 ชีวิต อดข้าว อดน้ำ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการ จนต้องหามเข้าโรงพยาบาล
กระทั่ง 20 ก.พ.2561 รัฐบาล คสช.ยอมถอย เพราะจำนวนผู้ชุมนุมได้เพิ่มมากขึ้นๆ ยินยอม เซ็นเอ็มโอยู บันทึกข้อตกลง
ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ออกไป พร้อมให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ เพื่อหาความเหมาะสมพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน
โดยมี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คว้างานที่ปรึกษา โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ได้เซ็นสัญญาว่าจ้าง เมื่อ ม.ค. 2562 ภายใต้กรอบเวลา 9 เดือน หรือศึกษาครบทั้งหมดภายใน ก.ย.2562
สัญญาจ้าง ระบุไว้ว่า จะต้องสรุปว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา ควรมีหรือไม่ ภายใน 5 เดือนแรก หรือ เดือน พ.ค.2562
แต่ทว่า… นิด้า ไม่สามารถสรุปการศึกษาในเบื้องต้นได้ทัน ส่งผลต่อให้กรอบ 9 เดือนที่ต้องศึกษาครอบคลุม 15 จังหวัดภาคใต้ ต้องขยับเลื่อนออกไปโดยปริยาย
และเลื่อนออกไปอีก เมื่อ นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ บอกว่า รายงานเบื้องต้นของนิด้าเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2562 เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ต้องให้กลับไปปรับปรุงรายงานใหม่
ฉะนั้นจึงต้องเลื่อนผลสรุป โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ควรจะมีหรือไม่ ออกไปเป็นครั้งที่ 2
นายมนูญ บอกว่า เดือน เม.ย.2563 ผลการศึกษาจะสรุปเพียงว่า จ.กระบี่ และ จ.สงขลา ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่เท่านั้น ส่วนภาพรวมทั้งภาคใต้ ที่ต้องศึกษาว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ถ้ามีจะสร้างที่ใด และถ้าไม่มีจะใช้เชื้อเพลิงใดทดแทน และควรมีกี่โรง เป็นต้น ทางนิด้าจะต้องจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ให้เสร็จปลายปี 2563 เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ SEA จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาให้ความเห็นต่อไป
สรุปคือผลการศึกษา “โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้” ฉบับสมบูรณ์ จะแล้วปลายปี 2563 หรือ อาจจะลากยาวไปถึง ปี 2564
และจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 2 ม.ค.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้ระบุว่า “ได้ให้แนวทางเรื่องของพลังงาน มีแผนงานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชุมชน ต้องหาพื้นที่ให้เหมาะสม และประชาชนมีส่วนร่วม และปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นพืชพลังงาน ที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คงทำไม่ได้แล้ว เพราะเต็มแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) แล้ว ใครจะไปพูดว่าจะมีการตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มันไม่มีแล้ว”
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ กรอบการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็ก กำลังการผลิต 1.5-2 เมกะวัตต์ ประมาณ 100 แห่ง กำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ไม่เกิน 3 แห่ง และกำลังการผลิตไม่เกิน 27 เมกะวัตต์ 1 แห่ง รวมกำลังการผลิต 256.9 เมกะวัตต์ ในระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี ตามข้อเสนอของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ใช้งบประมาณลงทุน 19,764 ล้านบาท มาจาก 3 ส่วน คือ
1.งบประมาณประจำปี 353 ล้านบาทต่อปี รวม 1,795 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับปรุงพื้นที่สนับสนุนพืชพันธุ์ เครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำวัสดุเชื้อเพลิง การพัฒนางานวิจัย 2. เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 1,437.52 ล้านบาทต่อปี และ 3.เงินจากภาคเอกชน เพื่อร่วมลงทุนการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าประชารัฐ จำนวน 2,156.28 ล้านบาทต่อปี โดยสัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าในอัตราส่วน 40:30:30
กล่าวคือ กลุ่มประชาชน ถือหุ้น 40% ช่วงแรกให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้ถือหุ้นแทนประชาชนไปก่อน ภาคเอกชนถือหุ้น 30% และ การไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) หรือบริษัทเอกชนนอกพื้นที่ถือหุ้น 30%
ประกอบกับ ที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ หรือ บอร์ด กฟผ.ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) โดยเร่งกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการโดย กฟผ. เร็วขึ้น 2 ปี
จากแผนเดิม กำหนดให้โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ต้อง COD ในปี 2570 เลื่อนเป็น COD ปี2568 และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 2 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ต้อง COD ปี 2572 จะเลื่อนเป็น COD ปี2570 เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ หลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ชะลอออกไป และเป็นการสนองต่อความต้องไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ทั้งหมด ทั้งมวล เหล่านี้…น่าจะเป็นคำตอบได้ดี ที่จะบ่งบอกถึง สถานภาพ “โรงไฟฟ้า” ที่จะผุดขึ้นในอนาคต…