เมียนมาเพิ่มหมอตำแยลดแม่ตายหลังคลอดลูก
เมียนมาเร่งฝึกอบรมบรรจุ “หมอตำแย” หรือผู้ช่วยทำคลอดเพิ่มหลายร้อยตำแหน่งส่งไปทำงานกระจายตามสถานสาธารณสุขในชนบททั่วประเทศ
หวังลดจำนวนการตายของมารดาคลอดลูกจากอัตราเฉลี่ย 282 รายต่อจำนวนประชากร 100,000 คน
โครงการฝึกอบรมหมอตำแย (Midwives) ของเมียนมาได้รับสนับสนุนจากกองทุนเพื่อกิจกรรมประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) โดยสถานฝึกอบรมอยู่ในนครย่างกุ้ง ชื่อ “ศูนย์ฝึกอบรมผดุงครรภ์” — Central Midwifery School การฝึกอบรมใช้เวลา 2 ปี มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมระลอกแรกมากราว 200 คน
ทั้งนี้ อัตราเฉลี่ยการเสียชีวิตของมารดาชาวเมียนมาระหว่างการคลอดบุตรปัจจุบันอยู่ที่ราว 282 รายต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ถือเป็นตัวเลขสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตของมารดาชาวไทย ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20 รายต่อประชากร 100,000 คน และสิงคโปร์ เพียง 6 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ชาวเมียนมาส่วนใหญ่และหลาก หลายชาติพันธุ์มากกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชนบทห่างไกล ทำให้ยากเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น ผลพวงจากการตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารมานานกว่า 50 ปี ยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านสาธารณสุขของประเทศย่ำแย่ไม่ได้รับการยกระดับพัฒนาแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการพัฒนาเรื่องอื่นๆ แม้ว่ารัฐบาลภายใต้การบริหารของนางออง ซาน ซูจี ซึ่งเพิ่มเข้าบริหารประเทศได้ราว 1 ปี กำลังเร่งยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในหลายๆด้าน แต่ก็ยังถูกวิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าทำงานเชื่องช้า
เนย์ ฮิน วิน สาวเมียนมา วัย 19 ปี หนึ่งในผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิชาผดุงครรภ์ทำคลอดรายหนึ่งเผยว่า เธอดีใจและภูมิใจที่ได้รับเลือกเข้าอบรมเรียนรู้ จะได้ใช้วิชาความรู้ช่วยมารดาตามชนบทให้รอดชีวิตจากการคลอดบุตร ขณะที่ลา ลา อาย ผู้ประสานงานระหว่างสหประชาชาติกับรัฐบาลเมียนมา ระบุถึงโครงการฝึกอบรมหมอตำแยถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งในเมียนมา เพราะอย่างน้อยพัฒนาการด้านต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีคุณภาพชีวิตประชากรให้ดีขึ้นก่อน.