เดินซอกแซก แยกสะพานขาว-นพวงศ์
เมืองที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น กรุงเทพฯ นับวันจะหาย่านการค้าเก่าแก่ที่ยังคงค้าขายสินค้าแบบเดิมๆ ต่อเนื่องยาวนานได้หลายสิบปีได้น้อยลงทุกที ด้วยราคาประเมินที่ดินมีราคาสูงขึ้นทุกปี
โอกาสที่จะถูกเวนคืนหรือเปลี่ยนมือผู้ครอบครองแล้วก็ทุบทำลายสิ่งก่อสร้างเดิมๆ ให้หายสาบสูญไปจากสายตาคนรุ่นหลังๆ จึงมีสูงตามไปด้วย ดังนั้นถ้ามีโอกาสมีเวลาก็ควรไปเดินเที่ยวและเก็บภาพย่านเก่าที่เหลือน้อยลงทุกทีในย่านใจกลางกรุงฯ เอาไว้
ย่านค้าขายเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ยังคงชีพจรผ่านกาลเวลานับกว่าร้อยปีมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ก็ได้แก่ ตลาดศูนย์กลางขายผักผลไม้ในราคาส่ง ย่านคลองมหานาค ขณะที่ในบริเวณไม่ไกลกันนัก แถวสะพานเจริญราษฎร์ ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมและคลองมหานาค ก็ยังมี ตลาดโบ๊เบ๊ แหล่งขายส่งเสื้อผ้าแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองกรุงฯ ซึ่งในอดีตราวปี พ.ศ.2470 เคยเป็นย่านขายผ้าเก่าและรับย้อมผ้าโดยชาวจีนอพยพจนได้ยินแต่เสียงร้อง บ๊งเบ๊ง ดังหนวกหูไปทั่วย่านการค้าจนกระทั่งกลายเป็นชื่อเรียกตลาดไปในเวลาต่อมา
ความที่เคยเป็นย่านการค้าอันคึกคักต่อเนื่องมายาวนานเช่นนี้ บ่งบอกให้รู้ว่า ชุมชนรายรอบแต่ดั้งเดิมย่อมแวดล้อมไปด้วยบ้านเรือนผู้มีอันจะกินและอารามหลวงมากมาย ซึ่งยังพอหลงเหลือให้คนรุ่นนี้ได้เห็นได้สัมผัสอยู่บ้าง
ถ้าลองหาโอกาสเดินเที่ยวลัดเลาะสองฝั่งคลองผดุงฯ ช่วงระหว่าง สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ (แยกสะพานขาว) และสะพานนพวงศ์ ก็จะได้พบกับจุดแวะชมที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่ในความเป็นย่านการค้าเก่าที่ยังไม่ตาย ซึ่งพอจะชี้เป้ากันได้ดังนี้
ชุมชนมุสลิมมหานาค อยู่ข้างสะพานเจริญราษฎร์ เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีแล้ว สมัยที่ทางน้ำยังเป็นเส้นทางสายหลักบริเวณนี้เปรียบได้กับสี่แยกมหานาคที่มีเรือพ่อค้าแม่ค้าจอดขายของแน่นไปหมด อย่างไรก็ตามเข้าสู่ยุคปัจจุบันสิ่งที่น่าสนใจในชุมชนมุสลิมแห่งนี้ คงจะเป็นของกินอร่อยๆ ตามตำหรับชาวมุสลิม และอีกสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือ กุโบร์ (สุสาน) ของที่นี่ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางถึงราว 18 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งค่อนพื้นที่อาศัยในชุมชนที่มีทั้งหมดราว 23 ไร่กว่าๆ จนกลายเป็นอีกพื้นที่สีเขียวย่านใจกลางกรุงที่ซุกซ่อนอยู่หลังแนวห้องแถวริมถนนกรุงเกษม
บ้านพิบูลธรรม เชิงสะพานกษัตริย์ศึก (แยกยศเส) อาคารเก่าสไตล์ยุโรปอายุกว่าศตวรรษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแด่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง แต่แรกสร้างเสร็จประมาณ พ.ศ. 2456 มีชื่อว่า บ้านนนที ตามชื่อวัวพระนนทิการ ซึ่งเป็นเทวพาหนะของพระอิศวร (ตราประจำเสนาบดีกระทรวงวัง) ภายหลังเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีถึงแก่อสัญกรรมแล้ว มีความพยายามจะขายบ้านหลังนี้ให้กับรัฐบาล(โดยมีบางส่วนเสียหายจากการโดนทิ้งระเบิดพลาดเป้าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2) กระทั่งปีพ.ศ. 2498 รัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้อนุมัติให้โรงงานยาสูบซื้อไว้เป็นสถานที่ราชการ แล้วเปลี่ยนชื่อว่าบ้านพิบูลธรรม ล่วงถึงปีพ.ศ. 2501 ได้เปลี่ยนไปอยู่ในความครอบครองของการพลังงานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในวันนี้
พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาโรงเรียนเทพศิรินทร์ อีกแหล่งเรียนรู้ทางด้านการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป ตั้งอยู่ในตึกโชฎึกเลาหะเศรษฐี อาคารเก่าแนวกอธิคโทนสีชมพูอมแดงอันโดดเด่นที่สุดตรงทางเข้าโรงเรียน โดยเปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระผู้เป็นปฐมบทแห่งการก่อกำเนิดโรงเรียนเทพศิรินทร์ สิ่งที่น่าสนใจน่าแวะเข้าไปชม คือมุมจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ของเหล่าบรมวงศานุวงศ์ผู้มีคุณูปการต่อการก่อตั้งโรงเรียนเทพศิรินทร์
วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เป็นอารามหลวงเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2419 ขณะมีพระชนมายุครบ 25 พรรษาพอดี เพื่อทรงเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณ กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงซึ่งได้เสด็จสวรรคตตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์ หากจะว่ากันถึงสิ่งที่พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธาในวัดแห่งนี้เป็นพิเศษจนกลายเป็นที่เลื่องลือไปทั้งประเทศ คงเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของ ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ฯ (พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต) ผู้เคยเป็น พระยานรรัตนราชมานิต ต้นห้องใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทของรัชกาลที่ 6 โดยหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว พระยานรรัตน์ฯ ก็ได้บวชหน้าไฟถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดเทพศิรินทร์ฯ และไม่สึกอีกเลยตราบจนมรณภาพ ผู้คนยกย่องท่านว่าเป็นพระอริยสงฆ์ที่เคร่งครัดในศีลจารวัตรธรรมวินัย วันนี้จึงยังมีผู้คนเคารพศรัทธาไปกราบขอพรท่าน ณ วิหารอัฐิท่านเจ้าคุณนรฯ กันอยู่เนืองๆ แม้ว่าท่านได้มรณภาพไปนานเกือบนับครึ่งศตวรรษแล้ว
การรถไฟแห่งประเทศไทย (อยู่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนเทพศิรินทร์) บันทึกไว้ว่า เส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศสยาม คือ สายกรุงเทพ-นครราชสีมา ซึ่งเริ่มขบวนปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 แต่การเดินทางในยุคบุกเบิกก็ยังไม่ราบรื่นนัก จวบจนกระทั่ง นายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้เข้ามาบริหารและพัฒนาจนมีมาตรฐาน จนทำให้ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งการรถไฟไทย อย่างไรก็ดีสิ่งที่ควรค่าแก่การแวะเข้าไปชมและน่าเข้าไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึกอย่างยิ่งในบริเวณที่ทำการการรถไฟฯ ก็คือ รถไฟโบราณ 2 คัน ทางเข้าตัวอาคาร โดยคันหนึ่งเป็น รถจักรดีเซลคันแรกของประเทศไทย(ขนาด 180 แรงม้า) เริ่มให้บริการครั้งแรกในปี พ.ศ.2471 ส่วนอีกคันเป็นรถจักรไอน้ำ นำเข้าจากประเทศเยอรมันนี เริ่มให้บริการครั้งแรกในปี พ.ศ.2449
ห้องสมุดรถไฟเยาวชน เป็นห้องสมุดเล็กๆ ซุกซ่อนอยู่ตรงเชิงสะพานนพวงศ์ภายใต้แมกไม้อันร่มรื่นด้านหลังสถานีรถไฟหัวลำโพง ห้องอ่านหนังสือทำด้วยโบกี้รถไฟเก่าที่ตกแต่งด้วยลวดลายการ์ตูน AEC สีสันงดงามน่ารัก แม้จะไม่ได้ติดแอร์เย็นฉ่ำ แต่อากาศก็ไม่ร้อน ได้อรรถรสการอ่านหนังสือในอีกแบบ.