แก้ มอก.ของเล่น คุมสารก่อมะเร็ง
สมอ. แก้ไขมาตรฐานของเล่น เพิ่มการตรวจหาสารก่อมะเร็งและคุมเข้มปริมาณสารโลหะหนัก เตรียมกำหนดมาตรฐานเพิ่มอีก เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันของเล่นเด็กมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำ สมอ. จึงได้ปรับแก้ไขมาตรฐานของเล่นให้มีความทันสมัย ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่น รวมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของเล่นของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
ทั้งนี้ มาตรฐานของเล่น มอก. 685-2540 ได้ปรับแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เช่น เพิ่มการตรวจสอบหาสารทาเลตซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกในกลุ่มพีวีซีเพื่อให้เนื้อพลาสติกมีความอ่อนตัว ซึ่งหากใช้สารทาเลตที่มีคุณภาพต่ำ ก็มีโอกาสที่สารทาเลตจากพลาสติกจะหลุดออกมาและเมื่อมีการสัมผัสโดยตรงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
ดังนั้น สมอ.จึงต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายตามมาตรฐานสากล ซึ่งเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้ โดยมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณของสารทาเลตสำหรับของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ และของเล่นที่สามารถนำเข้าปากได้ ต้องไม่เกิน 0.1%โดยมวล และแก้ไขการตรวจหาสารโลหะหนัก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่นที่มีการสัมผัสโดยตรงให้เข้มข้นขึ้น เช่น ฟิงเกอร์เพนต์ ซึ่งเป็นสีน้ำที่เด็กใช้มือสัมผัสโดยตรง ปริมาณสารตะกั่วต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องไม่เกิน 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือสารหนูต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมกำหนดเกณฑ์สูงสุดมีได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายและผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่น สัมผัส หรือการนำเข้าปาก และเพื่อให้มาตรฐานมีความทันสมัย สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้เห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณต้นปี 2563
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรฐานเครื่องเล่นสนามสาธารณะเพิ่มอีก 2 มาตรฐาน คือ ชิงช้า มอก.3000 เล่ม 1-2562 และกระดานลื่น มอก.3000 เล่ม 2-2562 โดยคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากพบว่า ยังมีข่าวเด็กๆ ได้รับอันตรายจากการเล่นเครื่องเล่นสนามที่ไม่มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก รพ.รามาธิบดี พบว่าในแต่ละปีมีเด็กได้รับบาดเจ็บจากการเล่นเครื่องเล่นสนามในสนามเด็กเล่นไม่ต่ำกว่า 34,000 คน นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะกำหนดเพิ่มอีก 2 มาตรฐาน ได้แก่ ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก เพื่อให้ครอบคลุมเครื่องเล่นที่อยู่ในสนามเด็กเล่น
อย่างไรก็ตาม สมอ. คาดหวังว่าการกำหนดมาตรฐานของเล่นและเครื่องเล่นสนาม จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีแนวทางในการผลิต และนำเข้าของเล่นที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ปลอดภัย รวมถึงโรงเรียนต่างๆ ก็มีทางเลือกในการเลือกซื้อเครื่องเล่นสนามมาติดตั้งในโรงเรียนด้วยความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการบาดเจ็บและอันตรายให้กับบุตรหลานได้อย่างแน่นอน