ธ.ก.ส.จ่ายแล้วเงินช่วยชาวนา-ประกันฯข้าวโพด
ธ.ก.ส. โอนแล้ว เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว-ปรับปรุงคุณภาพข้าว งวดแรกอุ้มชาวนากว่า 2.85 แสนราย วงเงิน 1,537 ล้านบาท ตั้งเป้าสิ้น 31 ธ.ค.นี้ จ่ายอีกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนประกันฯข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฝั่งพาณิชย์เคาะแล้ววานนี้ (20) จ่ายรอบแรกให้เกษตรกร 72,854 ครัวเรือน วงเงิน 215 ล้านบาทเศษ
นายศรายุทธ ยิ้มยวน รอง ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 แก่เกษตรกรที่ลงทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปีกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและทำให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวและรักษาคุณภาพข้าว ในอัตราไร่ละ 500 บาท ตามพื้นที่ที่ปลูกข้าวจริงแต่ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ วงเงิน 25,793 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.ได้เริ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วในวันแรก รวม 285,887 ราย เป็นเงิน 1,537 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระบวนการและขั้นตอนการโอนเงินจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องให้ชัดเจน เพื่อมิให้มีการจ่ายเงินซ้ำซ้อนกับการจ่ายเงินผู้ประสบภัยธรรมชาติที่ได้รับการช่วยเหลือโครงการเยียวยาอื่นๆ เนื่องจากการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ธ.ก.ส.ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย โดยเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี 2562 (รอบที่ 1) กับกรมส่งเสริมการเกษตร และหากไม่มีข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ และข้อมูลของทุกฝ่ายพร้อมตรงกัน จะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 3 วัน ซึ่งธนาคารฯคาดว่าจะเร่งทยอยโอนเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯได้ 80% ของเป้าหมายทั้งหมด หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2562 นี้ ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ ที่จะทยอยจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เม.ย. 2563
“ธ.ก.ส.พร้อมเร่งดำเนินการโอนเงินค่าเก็บเกี่ยวให้ได้ตามเป้าหมาย 20,000 ล้านบาทภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 นี้ โดยข้อมูลของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีดังกล่าวต้องถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯและไม่ซ้ำซ้อนกับการได้รับค่าชดเชยจากโครงการนโยบายรัฐอื่นๆ เช่น โครงการเยียวยาเกษตรกรนาข้าวผู้ประสบภัยธรรมชาติ ซึ่งจ่ายชดเชยให้ไร่ละ 1,113 บาท ต่อไร่ ” นายศรายุทธกล่าว
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63 ตามมติ ครม.ในวันเดียวกัน เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีรายได้ที่แน่นอน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำและสร้างความมั่นคงในอาชีพ เป้าหมายเกษตรกร 452,000 ครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 899,484,700 บาท ประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมล็ดที่ความชื้นไม่เกิน 14.5% กิโลกรัมละ 8.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่
โดยหลังจากคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ซึ่งมีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธานกรรมการเห็นชอบแล้ว จะทำการจ่ายเงินประกันรายได้ดังกล่าว และในวันเดียวกัน (20 ธ.ค.2562) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานในงาน Kick off โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63 ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเริ่มการจ่ายเงินประกันรายได้ในครั้งแรกให้เกษตรกร 72,854 ครัวเรือน เป็นเงิน 215,639,823.18 บาท
สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2562 – 31 พ.ค.2563 ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะทำการตรวจสอบข้อมูล แล้วส่งมายัง ธ.ก.ส. เพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเงินประกันรายได้ดังกล่าวเป็นส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงที่กำหนดโดยคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์การอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยจะมีการจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาครั้งแรก ในวันที่ 20 ธ.ค. 2562 สำหรับเกษตรกรที่มีการเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.– 19 ธ.ค.2562 และต่อไปเดือนละครั้ง ทุกวันที่ 20 ของเดือน จนถึงระยะเวลาสิ้นสุดการรับสิทธิ์ชดเชยตามโครงการฯ วันที่ 31 ต.ค.2563 ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบการโอนเงินได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้มีมาตรการคู่ขนานผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร ปี 2562/63 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและสถาบันเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ/หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการรวบรวมหรือรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 กับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อจำหน่าย แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตออกมาก วงเงินสินเชื่อรวม 1,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน.