ชี้ภาษีที่ดินลดปมดุลพินิจ-ดึงคนใหม่เข้าระบบ
“โฆษกคลัง” มั่นใจภาษีที่ดินฯไม่เพิ่มภาระเจ้าของทรัพย์สิน ย้ำรายได้ใหม่ที่มหาดไทยจัดเก็บใกล้เคียงของเดิม แต่ภาษีใหม่ช่วยลดปัญหาดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ แถมดึงคนหลบภาษีเข้ามาอยู่ในระบบได้อีกเพียบ ระบุของใหม่มีส่วนดี ทั้ง “ยกเว้น-ลดหย่อน-บรรเทา”
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนไทยเป็นจำนวนมากว่า ไม่น่าจะเป็นการเพิ่มภาระภาษีให้กับเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากนัก แม้จะมีบางรายที่อาจเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่ก็มีหลายรายที่จะเสียภาษีถูกลง เมื่อเทียบกับการจัดเก็บภาษีแบบเดิม คือ ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้น คือ ภาษีใหม่จะลดปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่อาจทำให้การจัดเก็บภาษีเกิดความผิดพลาดตามมาได้ ที่สำคัญระบบภาษีใหม่จะมีเกณฑ์มาตรฐานและมีเงื่อนไขที่ช่วยลดภาระรายจ่ายให้กับเจ้าของทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้น การลดหย่อน และการบรรเทา ในช่วง 2 ปีแรก รวมถึงการยังกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบภาษีให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบภาษีได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ อัตราภาษีใหม่จะใช้หลักสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เช่น หากมีการนำบ้านพักอาศัยหลังที่ 2 ไปให้เช่าต่อ เจ้าของทรัพย์จะต้องเสียภาษีในทุกๆ 1 ล้านบาทที่ 3,000 บาท แต่หากมีเพื่อการอยู่อาศัย แม้จะไม่ได้อยู่ประจำเป็นเพียงอยู่อาศัยเป็นครั้งคราว และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการนำไปให้เช่าจริง จะเสียภาษีเพียง 1 ล้านละ 200 บาทเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยในแต่ละปีจะมีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการนำระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ทดแทนนั้น กระทรวงการ คลังเชื่อว่า น่าจะทำให้ฐานทรัพย์สินเดิมที่เคยเสียภาษีแบบเดิม เมื่อมาอยู่ในระบบภาษีใหม่ การจัดเก็บภาษีใหม่ก็น่าจะอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน เพียงแต่อาจมีส่วนรายได้ภาษีที่มีเพิ่มเติม ก็คือ การจัดเก็บภาษีจากกลุ่มเจ้าของทรัพย์สินที่ไม่เคยอยู่ในระบบภาษี หรือได้รับประโยชน์จากการใช้ดุลพินิจมาก่อน.