ปลัดคลังชี้ 2 ปมประกันฯข้ามชาติรุกไทย
“ปลัดคลัง-ประธานบอร์ด คปภ.” พูดชัด! ธุรกิจประกันภัยต้องเร่งปรับตัวตามเทคโนโลยี หลังคนไทยนำหน้าใช้อินเตอร์เน็ตมากสุดติดอันดับโลก ย้ำไม่เพียงลดต้นทุน ลดเบี้ยประกันฯ แต่ยังช่วนทานกระแสประกันฯข้ามชาติรุกไทย เผย 2 ปมที่น่าห่วง “คนไทยแห่ซื้อประกันชีวิตที่สิงคโปร์ – ประกันภัยต่อข้ามชาติบุกแย่งเบี้ยประกันถึงบ้าน” แนะดึงคนไทยร่วมตั้งกองทุนฯ ลุยรับประกันภัยต่อ ด้านเลขาฯ คปภ. ชี้จุดเสี่ยง กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล วอนธุรกิจประกันภัย เร่งนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารงาน
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และประธานในพิธีฯ กล่าวระหว่างเปิดงานสัมมนา Insurance in Digital World : Innovate the Future ว่า การประกันภัยในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีบทบาทและมีส่วนช่วยสร้างหลักประกันต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากจะเป็นหลักประกันในการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณแผ่นดินให้กับรัฐบาลอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของผู้คน เห็นได้ว่าจากปี 57 ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากร้อยละ 45 เพิ่มเป็นร้อยละ 82 ในปี 61 ติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งยังขยายฐานผู้ใช้ไปยังกลุ่มเกษตรกรและชาวบ้าน ต่างก็ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป เห็นได้ว่าผู้บริโภคสามารถซื้อประกันภัยผ่านสมาร์ทโฟนได้โดยไม่ต้องเจอตัวแทนนายหน้าเช่นแต่ก่อน
“สิงคโปร์เป็นประเทศที่นำนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัย (InsurTech) มาใช้ จนสามารถเรียนรู้พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด ทำให้สามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งในต่างประเทศ และมีคนไทยอีกหลายคนที่ไปซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่สิงคโปร์ เนื่องจากมีราคาถูก แต่ให้การคุ้มครองมากกว่า” ประธานบอร์ด คปภ. ระบุ และว่า บริษัทประกันภัยไทยจำเป็นจะต้องนำเทคโนโลยีฯมาปรับใช้ในการดำเนินงาน เพื่อลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานและให้บริการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสความอยู่รอดในการแข่งขันจากต่างประเทศ
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า ในส่วนภาครัฐเอง โดยเฉพาะกระทรวงการคลังก็พยายามปรับตัวให้ทันกับดิจิทัล เทคโนโลยี มีการนำระบบอีเพย์เม้นท์ และเครือข่ายบล็อกเชนมาใช้ในการดำเนินงาน ในส่วนของ คปภ.ก็มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ แอปพลิเคชั่น “Me Claim” มาช่วยเป็น “ตัวกลาง” ในการดำเนินงานและประสานงานกับบริษัทประกันภัยต่างๆ เพื่อลดความเสียหาย ลดต้นทุนและเวลาในการดำเนินงาน รวมถึงลดเวลาให้บริการ และเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชน สำหรับธุรกิจประกันภัย เชื่อว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการฐานข้อมูลของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านเพศ วัย อาชีพ พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ ฯลฯ ทั้งหมดต่างมีความสำคัญต่อการพิจารณาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริงของผู้บริโภคในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยให้ค่าเบี้ยประกันภันของลูกค้ามีราคาที่ถูกลงอีกด้วย
“ตอนนี้ มีบริษัทประกันภัยจากต่างประเทศรุกเข้ามาดำเนินธุรกิจในบ้านเรามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม “ประกันภัยต่อ” (Reinsurance) ที่บางกลุ่มยังคงรับเบี้ยประกันภัยต่อจากนอกประเทศ ขณะที่บางกลุ่มได้เข้ามาตั้งสำนักงานสาขาในไทย เพื่อรับประกันภัยส่วนเกินของบริษัทประกันภัยไทยที่ไม่สามารถจะเพิ่มทุนและรับความเสี่ยงได้มากไปกว่านี้ ทำให้พวกนี้ได้รับผลประโยชน์ไปฟรีๆ เมื่อพวกเขาเห็นว่ากำไรจากการรับประกันภัยต่อมีสูงมาก ก็อาจจะรุกเพิ่มเข้ามาได้อีก หากเป็นไปได้ควรมีการจัดตั้งกองทุนฯ เพื่อเข้ามาดำเนินการรับเบี้ยประกันภัยต่อ โดยไม่ต้องส่งไปยังต่างประเทศ แต่จะต้องดึงให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกองทุนฯที่ว่านี้ด้วย เพื่อให้กำไรอยู่ในประเทศของเรา” ประธานบอร์ด คปภ. ย้ำ
ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยในลักษณะ “เสื้อโหล” (One size fits all) ต่างจากหลายประเทศที่มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบ “สั่งตัดพิเศษ” (Tailor Made) อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนไทยก็เปลี่ยนไปด้วย ทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ทั้งในราย “เฉพาะคน” และ “เฉพาะกลุ่ม” ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ซึ่งการทำเช่นนั้นได้ จะต้องมีการนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ ควบคู่กับนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อทำให้ภารกิจนี้มีความเป็นไปได้และประสบผลสำเร็จอย่างที่คาดหวัง
“ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจประกันภัยจะต้องลงทุนการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อลดต้นทุน และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่”
ดู พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พบว่ามีความละเอียดอ่อน เพราะหลายเรื่องยังขาดความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนิยมของคำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” ที่มีทั้งทางตรงและทางอ้อม “สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล” ที่มีมาก นอกจากนี้ ยังในส่วนของ “หน้าที่” ทั้งที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของภาครัฐและหน้าที่ของภาคเอกชน ทั้งหมดเกี่ยวข้องและพาดพิงไปถึงการ “ละเมิด” ทั้งในส่วนของ “สิทธิและหน้าที่” “ข้อมูลส่วนบุคคล” และอื่นๆ ที่สำคัญความผิดในการ “ละเมิด” เกี่ยวพันไปถึงการดำเนินคดี ทั้งคดีแพ่งและอาญา รวมถึงคดีทางปกครอง อีกทั้งยังมีโทษจำคุกและค่าปรับทางปกครองสูงถึง 5 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากๆ โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยตามมาอีกมากมาย
ดังนั้น บริษัทประกันภัยในฐานะที่เป็นผู้ดูแลและถือข้อมูลของลูกค้า จะอัพเดทข้อมูลล่าสุดของลูกค้าได้อย่างไร และจะรู้ได้อย่างไรว่าช่วงไหนที่ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกค้าจะเพิกถอนความยินยอม ซึ่งเหล่านี้ จำเป็นจะต้องเทคโนโลยี เช่น AI หรือ บล็อกเชน เข้ามาช่วยในการดำเนินงาน ก็สามารถจะดำเนินงานได้
“ขณะนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจประกันภัย ไม่ได้จำกัดตัวอยู่แค่ พ.ร.บ.ประกันภัย ที่หลายคนรู้จักดีในแทบทุกแง่มุม เรียกว่าเป็น “เซียน” ในแง่กฎหมายประกันภัย แต่ตอนมันไปไกล พูดว่าได้ “เหนือเซียน” ยากเกินกว่าจะเรียนรู้และเข้าใจได้ง่ายๆ อีกต่อไป” เลขาธิการ คปภ. พร้อมกับเรียกร้องและส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยได้ทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานโดยเร็ว เพื่อลดทอนปัญหาที่จะมีตามมาในอนาคต
ขณะที่ นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก่อเกิดภาวะการ “เทคโนโลยี ดิสรับทีฟ” ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อธุรกิจประกันภัยของไทย ที่จะต้องเร่งปรับตัวกันขนานใหญ่ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ และการบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน ก็จะต้องระวังในเรื่องการบริหารข้อมูลของลูกค้า ไม่ให้เกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2563 ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 63 ด้วย
“ภาคธุรกิจประกันภัยจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ในหลากหลายมิติ ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจถึงกฎหมายข้างต้นอย่างถ่องแท้ เพื่อเตรียมตัวปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวและว่า นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดงานครั้งที่ 26 และตรงกับโอกาสครบรอบปีที่ 52 สมาคมประกันวินาศภัยไทย.