อีไอซีคงคาดการณ์ส่งออกปี 2019 ที่ -2.5%
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง ส่งออก ต.ค. หดตัวเร่งขึ้นที่ -4.5%YOY อีไอซีคงคาดการณ์ส่งออกปี 2019 ที่ -2.5% ส่วนปี 2020 คาดขยายตัวเพียง 0.2%
มูลค่าการส่งออกเดือน ต.ค. 2019 กลับมาหดตัวเร่งขึ้นที่ -4.5%YOY โดยสินค้าหลักที่ทำให้การส่งออกรวมหดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป, เคมีภัณฑ์, ข้าว, เม็ดพลาสติก, ยางพารา, โทรศัพท์ และรถยนต์ ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าหดตัวเกือบทุกตลาดสำคัญ มีเพียงแค่ตลาดสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะปรับดีขึ้นบ้างในช่วงหลัง จากท่าทีในการเจรจาข้อตกลงการค้า phase 1 แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงด้านผลการเจรจาว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้มากน้อยเพียงใด
อีไอซีคงคาดการณ์ส่งออกปี 2019 ที่ -2.5% ส่วนปี 2020 คาดขยายตัวเพียง 0.2% จากแรงกดดันจากหลายปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มชะลอตัว, ความเสี่ยงสงครามการค้า และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกไทย (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) เดือน ต.ค. 2019 กลับมาหดตัวเร่งขึ้นที่ -4.5%YOY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวเพียง -1.4%YOY (เดือนก่อนได้รับอานิสงส์จากปัจจัยฐานต่ำมาสนับสนุน) เมื่อหักทองคำ การส่งออกหดตัวลดลงเล็กน้อยที่ -4.2%YOY ทั้งนี้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2019 มูลค่าการส่งออก (หักมูลค่าการส่งกลับอาวุธในเดือน ก.พ. 2019) หดตัวที่ -3.2%YOY และหากหักทองคำจะหดตัวที่ -4.9%YOY
สินค้าส่งออกสำคัญที่ทำให้มูลค่าส่งออกเดือน ต.ค. หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป, เคมีภัณฑ์, ข้าว, เม็ดพลาสติก, ยางพารา, โทรศัพท์ และรถยนต์ ขณะที่การส่งออกคอมพิวเตอร์กลับมาขยายตัวได้ในรอบหลายเดือน (รูปที่ 1)
• การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหดตัวสูงที่ -35.4%YOY เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวปีก่อน (Dubai หดตัวถึง -25.9%YOY ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา)
• การส่งออกเคมีภัณฑ์หดตัวต่อเนื่องที่ระดับ -24.7%YOY โดยเป็นการหดตัวทั้งในส่วนของเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และปุ๋ย
• การส่งออกข้าวหดตัวที่ -26.6%YOY โดยหดตัวในตลาดสำคัญ ได้แก่ เบนิน, แอฟริกาใต้ และจีน เนื่องจากจีนมีสต็อกข้าวสูงและมีการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกาเพิ่มเติม รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ยอดขายข้าวลดลง
• รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ -2.0%YOY หลังขยายตัวได้ในเดือนก่อนหน้าซึ่งมีปัจจัยฐานต่ำสนับสนุน ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์ได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์โลกที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2018 เป็นต้นมา โดยสถานการณ์การส่งออกรถยนต์ในปัจจุบันยังไม่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับแนวโน้ม (รูปที่ 2)
• อย่างไรก็ดี การส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2018 เป็นต้นมา นำโดยการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าที่สามารถขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน นำโดยการส่งออกไปจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
อีไอซีคงประมาณการมูลค่าการส่งออกปี 2019 ที่ -2.5% (มูลค่าส่งออกที่ไม่รวมมูลค่าการส่งกลับอาวุธเมื่อเดือน ก.พ. 2019) โดยคาดว่าในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี อัตราเติบโตของการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนที่การส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนจากภาวะสงครามการค้า
แม้ว่าภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะปรับดีขึ้นบ้างในช่วงหลัง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงด้านผลการเจรจา โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และจีนมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้นในการเจรจาข้อตกลงการค้า phase 1 อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงอย่างเป็นทางการ จึงยังมีความเสี่ยงสูงอยู่พอสมควรว่าจะสามารถตกลงกันได้หรือไม่ โดยอีไอซีมองว่าสินค้าจีนก้อนสุดท้ายมูลค่ากว่า 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่เดิมสหรัฐฯ มีกำหนดปรับเพิ่มภาษีเป็น 15% ในช่วงกลางเดือน ธ.ค. นี้ จะเป็นข้อต่อรองสำคัญในการเจรจา phase 1 กับจีน โดยหากผลการเจรจาออกมาดี ก็อาจมีการเลื่อนการขึ้นภาษีต่อสินค้าจีนก้อนดังกล่าวออกไปก่อนได้ เหมือนกับที่ทำก่อนหน้าในการชะลอการขึ้นภาษีจาก 25% เป็น 30% ต่อสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในส่วนของภาษียานยนต์ที่สหรัฐฯ เคยประกาศว่าจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มในเดือน พ.ย. นี้ ล่าสุดได้มีการเลื่อนการพิจารณาต่อไปอีก 6 เดือน เนื่องจากมีการพูดคุยที่ดีระหว่างสหรัฐฯ และผู้ผลิตยานยนต์ทั้งของยุโรป ญี่ปุ่น และอื่น ๆ จึงทำให้ความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรมยานยนต์โลกลดลงไปส่วนหนึ่ง
ในปี 2020 การส่งออกยังได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มชะลอตัว, ความเสี่ยงสงครามการค้า และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง จึงทำให้อีไอซีคาดการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% จากคาดการณ์ของ IMF WEO พบว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อาเซียน-5 และ CLMV มีทิศทางขยายตัวใกล้เคียงหรือชะลอลงในปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2019 จึงทำให้เป็นปัจจัยกดดันหลักที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของภาคส่งออกไทยปีหน้า นอกจากนี้ ภาวะสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง ก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการค้าโลก รวมถึงเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องก็จะส่งผลโดยตรงต่อรายได้ในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย