ชี้ข้อดี 2 กม. ประกันภัย หลัง ครม.ไฟเขียว
ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประกันชีวิตและวินาศภัย ตามที่ ก.คลังเสนอ ย้ำหวังเพิ่มความคล่องตัวและเติมประสิทธิภาพการทำงาน หากต้องควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน ด้าน “โฆษกคลัง” ระบุ กม.ใหม่ยังช่วยสร้างศักยภาพแข่งขัน ป้องปรามผู้บริหารใช้อำนาจหรือทำการมิชอบ พ่วงคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. กลุ่มที่ 3 บทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ (ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ กลุ่มที่ 3) ที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนกิจการที่มีผลให้ต้องมีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ผู้รับประกันภัย (บริษัทผู้รับประกันภัย) โดยเมื่อบริษัทผู้รับโอนกิจการมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้เอาประกันภัย (ในฐานะเจ้าหนี้) พร้อมแจ้งสิทธิให้ผู้เอาประกันภัยคัดค้านแล้ว หากไม่มีการคัดค้านภายใน 1 เดือนให้ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ผู้รับประกันภัย ซึ่งเดิมจะต้องทำเป็นสัญญาระหว่างลูกหนี้ผู้รับประกันภัยรายใหม่กับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยทุกรายตามมาตรา ๓๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงทำให้การโอนกิจการของบริษัทประกันภัยไม่เกิดความคล่องตัว ใช้ระยะเวลายาวนาน และมีต้นทุนสูง
เพิ่มเติมบทบัญญัติให้บริษัทสามารถจดทะเบียนควบรวมกิจการได้ทันทีหากได้รับหนังสือให้ความยินยอมจากเจ้าหนี้ (ผู้เอาประกันภัย) ครบทุกราย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้พ้นระยะเวลาคัดค้าน (1 เดือน) ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการควบรวมเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น
เพิ่มเติมบทบัญญัติให้บริษัทที่รับโอนกิจการสามารถเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทที่โอนกิจการในคดีที่มีการฟ้องร้องในศาลได้ และสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทผู้รับโอนกิจการได้รับซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนกิจการเช่นเดียวกับการควบรวมกิจการ
เพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับกรณีที่กรรมการและผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัท พนักงานของบริษัท หรือบุคคลที่บริษัทมอบหมาย แสวงหาประโยชน์หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัท ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ให้มีความผิดตามร่างกฎหมายนี้ รวมทั้งบุคคลที่ก่อหรือให้การสนับสนุนให้มีกระทำการดังกล่าวข้างต้นด้วย
เพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ก่อหรือให้การสนับสนุนให้ผู้สอบบัญชี หรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ การทำลาย ทำให้เสียหาย ซึ่งตราหรือเครื่องหมายที่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับไว้
แก้ไขบทบัญญัติสำหรับความผิดที่คณะกรรมการเปรียบเทียบไม่อาจเปรียบเทียบปรับได้ ซึ่งทำให้ต้องรับโทษทางอาญาในกรณีการกระทำความผิดของกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงานของบริษัท บุคคลที่บริษัทมอบหมาย บุคคลที่ก่อหรือสนับสนุนให้ผู้สอบบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทำผิดกฎหมายและผู้ซึ่งกระทำความผิดต่อนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินที่กำหนดให้การกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ ทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้การโอนกิจการและการควบรวมกิจการดำเนินการได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และป้องปรามการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัท ตลอดจนคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยและการบริหารธุรกิจของบริษัทประกันภัย ซึ่งกลไกดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ภาคการประกันภัยมีเสถียรภาพและความมั่นคงมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นต่อไป
โดยหลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ก่อนหน้านี้ (19 พ.ย.) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระ ราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.เดิม ที่ออกเมื่อปี2535 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญดังกล่าวตามที่ปรากฏข้างต้น.