จี้ตั้งบอร์ดเดินสายชวนไทย-เทศลงทุน EEC
“อุตตม” จี้ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง EEC เร่งตั้ง “บอร์ดเฉพาะกิจ” ย้ำปี 63 ต้องเดินสายชวนนักลงทุนไทยและต่างชาติ ขนเงินลงทุนในโครงการที่เชื่อมต่อไทยทั้งประเทศ หลังทุกฝ่ายเห็นความชัดเจนและตั้งใจจริงของรัฐบาลไทย
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และ ปธ.อนุ กก.บห. การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวระหว่างเปิดสัมมนา “EEC NEXT : ทุนไทย-เทศ ปักหมุด EEC” จัดโดยเครือ นสพ.เนชั่น ตอนหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีของการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถึงตอนนี้ เริ่มเห็นความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน, โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ฯลฯ รวมถึงความตั้งใจของรัฐบาลต่อการดูแลภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาวผ่านโครงการดังกล่าว
โดยเฉพาะหลังจากมี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ออกมาบังคับใช้อย่างเป็นทางการ กระทั่ง สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ จนทำให้ถึงตอนนี้ มีการติดต่อจากตัวแทนกลุ่มทุนชั้นนำของโลก ทั้งจากฝั่งสหรัฐฯ, ยุโรป, จีน, ญี่ปุ่น เข้ามาเป็นจำนวนมาก ล่าสุด วานนี้ (19) มีตัวแทนสถาบันการเงินชั้นนำระดับจากประเทศญี่ปุ่น มาหารือกับ ผอ.EEC เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้า EEC และแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งส่วนตัวแล้ว ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี หากจะมีสถาบันการเงินระดับโลก รวมถึงสถาบันการเงินของไทย เข้ามาดำเนินงานในพื้นที่ EEC เหมือนกับโครงการต่างๆ ในหลายๆ ประเทศ
สำหรับการส่งผ่านโครงการ EEC จากปีที่ 3 สู่ปีที่ 4 นั้น นายอุตตม ย้ำว่า เมื่อพิจารณาถึงจุดที่เป็น EEC NEXT ดังนั้น จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สนง.EEC, สนง. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ จะรวมตัวเป็นคณะกรรมการฯ เดินทางไปเชิญชวนนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เข้ามาลงทุนในโครงการ EEC ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นโครงการระดับชาติ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ โดยในปีหน้า (63) คณะกรรมการฯที่รวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเปิดเกมรุกในการเชิญชวนนักลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับแนวทางของ EEC เข้ามาลงทุน โดยภาครัฐพร้อมจะให้การส่งเสริมและสนับสนุน ทั้งในแง่ของงบประมาณ การจัดเตรียมบุคลากรคุณภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอื่นๆ
นายอุตตมา ย้ำว่า การขับเคลื่อน EEC ถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศไทย ท่างภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมองไม่เห็นการฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ต่างกำลังเร่งพัฒนาประเทศของพวกเขาอย่างเต็มที่ ดังนั้น การหยุดนิ่งโดยไม่ดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ที่มองไปถึงอนาคต จะทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาตามมาอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาโครงการ EEC ให้อยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ให้มากยิ่งๆ ขึ้นนั้น จำเป็นจะต้องพัฒนาในส่วนของ EEC เอง ด้วยการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเหล่านั้นเข้ามาลงทุนใน EEC จริงๆ รวมถึงนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพร้อมกับเม็ดเงินลงทุนด้วย ซึ่งขณะนี้ มีนักลงทุนสนใจจะเข้าลงทุนด้านการดูสภาพแวดล้อม ดูแลจัดการด้านขยะและของเหลือใช้ในอุตสาหกรรม ด้านการเกษตร และการพัฒนาเมือง/ชุมชน ฯลฯ
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็จะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในการเดินหน้าและผลักดันโครงการ EEC ให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนประเทศไปด้วยพลังสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งตัว EEC และประเทศไทย ได้พิสูจน์ให้ต่างชาติเห็มแล้ว เรามีความตั้งใจจริงในการส่งเสริมสนับสนุน ผลักดันและขับเคลื่อนโครงการที่จะเป็นอนาคตของประเทศมากขนาดไหน
“ตอนนี้ นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจประเทศไทย และโครงการ EEC ซึ่งรัฐบาลมีแผนจะยกระดับความเชื่อมโยง ทั้งในมิติของเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะแนวคิดการจัดสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันตก (กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี และราชบุรี) ต่อเชื่อมไปยังเมียนมาและอินเดีย ซึ่งนั่นทำให้ประเทศไทยอยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประตูสู่เอเชีย ซึ่งทั่วโลกมองว่าจะเป็นภูมิภาคที่สำคัญ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงและเข้มแข็งมากที่สุด” รมว.คลัง ระบุ และว่า
ไม่เพียงรัฐบาลจะเน้นส่งเสริมและสนับสนุน EEC ซึ่งถือเป็นโครงการระยะยาว แต่ยังดำเนินมาตรการระยะสั้น คู่ขนานกันไป เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีปัญหาและส่งผลกระทบวงกว้างไปทั่วโลก โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทย จำเป็นที่รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นการเพิ่มกำลังซื้อของภาคประชาชนภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ
ก่อนหน้านี้ นายสมชาย มีเสน ปธ.จนท.บห. บมจ.เนชั่น มีเดีย กรุ๊ป กล่าวว่า เท่าที่ได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบว่าขณะนี้มีเม็ดเงินที่ได้ลงทุนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ผ่านการส่งเสริมจากบีโอไอราว 5 แสนล้านบาท และเป็นโครงการที่ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ลงทุนในโครงการ EEC รวมกันอีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งนั่นทำให้ภาพอนาคตของโครงการ EEC มีความชัดเจนต่อการจะร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต.