“ฮัก ณ เชียงราย” ไอเดียสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าสับปะรด
การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอสู่ผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากที่จะบ่งบอกถึงความสำเร็จของธุรกิจ แม้จะมีการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้แต่ก็ยังไม่ได้การันตีว่าจะสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางดังกล่าวนั้นได้ โดยประเด็นหลักเลยจะต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด
แบรนด์ “ฮัก ณ เชียงราย” Startup ธุรกิจขึ้นมาจากความพยายามของ “ปริศนา คำขอด” ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งประสบปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรซึ่งก็คือสับปะรดภูแล ซึ่งเป็นพืชที่บ่งบอกภูมิรัฐศาสตร์ (GI) มีราคาลดลง จากผลผลิตที่ล้นเกินความต้องการของตลาด เธอจึงหาวิธีในการเพิ่มมูลค่าจนประสบความสำเร็จในที่สุด
เพิ่มมูลค่าสับปะรด
ปริศนา ในฐานะ ประธาน บริษัท ฮัก ณ เชียงราย จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในสร้างทำธุรกิจ ว่า แรกเริ่มเดิมทีเธอเองก็ไม่เคยเป็นผู้ประกอบการหรือเป็นเอสเอ็มอี (SMEs)เลย แต่ทำงานเป็นวิทยากรของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน สอนผู้ที่มีรายได้น้อย โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ว่าราการจังหวัดชียงราย ซึ่งในเวลานั้นคือ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร (ผู้ว่าหมูป่า) ให้หาวิธีในกรช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ยังถูกกดราคาให้ต่ำลงจากผลผลิตที่ออกมาเป็นจำนวนมาก จนไม่มีผู้ใดไปตัด แม้จะนำไปเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ตัวเธอเองก็พยายามสร้างสรรค์ออกมาในหลากหลายเมนู แต่ก็ยังไม่ “ว๊าว” ในความรู้สึก เนื่องจากมีผู้อื่นทำอยู่แล้วจึงเปรียบเสมือนเดินตามอยู่หนึ่งก้าว จนวันหนึ่งเธอได้ไปดูรายการหนึ่งที่นำเสนอการทำขนมของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการทำแอปเปิ้ล โดยที่เป็นการนำแอปเปิ้ลทั้งลูกมาทำ ตัวเธอจึงปิ๊งไอเดียว่าน่าจะลองนำสับปะรดภูแลทั้งลูกไปใส่แทน แล้วคิดถึงกระบวนการผลิตว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากตัวเธอจบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) ทำให้มองกระบวนการผลิตได้ค่อนข้างเข้าใจ
หลังจากนั้นเธอจึงได้ทดลองทำ โดยทำอยู่ประมาณ 3 เดือน โดยรับวัตถุดิบมาจากเกษตรกรที่รายได้น้อยที่ตัวเธอไปสอน เพื่อเอามาทดลองทำ ซึ่งตัวเธอจะดูอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน แม้กระทั่งความสุกของสับปะรดหรือความหวานที่จะออกมาว่าจะอยู่ที่ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ โดยไม่มีการเติมสารกันบูด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รสชาติที่อร่อย และได้คุณภาพที่ดีที่สุด
“ในช่วง 9 เดือนที่เริ่มทำมีอุปสรรคผ่านเข้ามามากมาย เพราะตนขายทางออนไลน์ไม่เป็น ประกอบกับมีเงินทุนอยู่ไม่มาก ถึงขนาดที่ลูกค้าออเดอร์มาต้องขอให้โอนเงินมาให้ก่อนเราถึงจะผลิตขนมสดส่งให้ โดยที่ตอนนั้นอายุของขนมอยู่ได้แค่ 5-7 วันเท่านั้น หากแช่ในตู้เย็นจะอยู่ได้ประมาณ 10 วัน ทำให้จนเหนื่อยมาก เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 รีบมาทำขนม เพื่อให้ทันส่ง Kerry หรือ EMS ก่อน 4 โมงเย็นให้ลูกค้าทุกวัน จนคิดว่าหากเป็นแบบนี้ต่อไปคงไหวคงป่วยก่อนที่จะรวย เพราะกำไรไม่ได้มากมาย”
–แตะเงินล้านภายในไม่ถึงปี
ปริศนา บอกอีกว่า ตนจึงตัดสินใจเดินทางไปยังสถาบันการศึกษาที่เรียนจบมาทั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งทั้ง 2 สถาบันได้ให้ความช่วยเหลือ และให้คำแนะนำทางด้านการยืดอายุของขนม พร้อมกับช่วยปรับปรุงแพคเกจ ทำให้ตัวเธอไม่ต้องเหนื่อยมากเหมือนแต่ก่อน แต่ได้ออเดอร์มากขึ้น และค่อยๆเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแตะเงินหลักล้านบาทได้ภายในไม่ถึง 1 ปี
อย่างไรก็ดี แบรนด์ยังได้ดำเนินการเรื่องการขอใบรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังพื้นที่อื่นที่ห่างไกลได้มากขึ้น โดยล่าสุดบริษัทได้ขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังร้านนันทวันที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย อีกทั้งยังมีวางจำหน่ายที่ไฮโซแซบที่จังหวัดพะเยาด้วย เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น
บริษัทยังดำเนินการด้วยการซื้อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมุ่งหวังให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้เห็นผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมกันนี้ยังพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิมให้มีการซื้อซ้ำ และใช้กลยุทธ์ส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ลูกค้าได้ทดลองรับประทานพร้อมกับออเดอร์ที่สั่งเข้ามา
“ปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายหลักของแบรนด์อยู่บนออนไลน์ประมาณ 80% ทั้งเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซด์ของแบรนด์ ช็อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) ส่วนอีก 10% มาจากการจำหน่ายร้านขายของฝากที่สนามบินแม่ฟ้าหลวง และบริเวณหอนาฬิกาเปลี่ยนสีพุทธศิลป์เชียงราย ซึ่งถือว่าเป็นแลนมาร์คของจังหวัด ส่วนอีก 10% มาจากการที่ลูกค้าเดินเข้ามาซื้อที่หน้าบ้าน”
–เล็งทำตลาดส่งออก
ปริศนา บอกต่อไปว่า ในระยะถัดไปบริษัทจะดำเนินการเรื่องการสร้างศูนย์เรียนรู้ในเชิงเกษตรกรรม เพื่อให้ผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวได้มีกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการแปรรูปสัปปะรด ด้วยการนำเสนอเป็นแพคเกจ โดยที่ภายในศูนย์จะมีจุดจำหน่ายของฝาก เพื่อให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาได้จับจ่ายไปรับประทานหรือเป็นของฝาก นอกจากนี้ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการลงทุนขยายโรงงาน เนื่องจากบริษัทมีแผนที่จะทำตลาดส่งออกเพิ่มเติม
สำหรับตลาดส่งออกที่บริษัทกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนของการเจรจาทางธุรกิจอยู่คือที่ประเทศญี่ปุ่น และประเทศในตะวันออกกลาง โดยล่าสุดกำลังดำเนินการเรื่องการขอใบรับรองหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีสำหรับการผลิต ซึ่งเป็นการจัดการสภาวะแวดล้อมขั้นพื้นฐานของกระบวนการผลิต (GMP CODEX) และการยื่นขอการรับรอง อย. จากประเทศญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะสามารถทำตลาดส่งออกได้อย่างเป็นรูปธรรมได้ประมาณปลายปี 63
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แบรนด์ประกอบด้วย ชีสทาร์ตสับปะรดนางแลน้ำผึ้ง ,พายสับปะรดภูแลเชียงรายแบบทั้งลูก ,ฮักนะภูแลปังปังฮอกไกโด และผลิตภัณฑ์ล่าสุดกล้วยกอดสับปะรด ซึ่งจะนำกล้วยหอมมาทำให้กรอบและประกบกับสับปะรดกวนใส่น้ำผึ้งและไซรับ โดยมุ่งหวังที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่รับประทานแป้ง และต้องการหลีกเลี่ยงน้ำตาลทราย
ด้านจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ อยู่ที่การนำสับปะรดนางแลและภูแล ซึ่งเป็นพืช GI ของจังหวัดเชียงรายมาเพิ่มมูลค่า โดยการนำมาต่อยอดด้วยการแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ไม่ซ้ำแบบใคร อีกทั้งยังมีการคัดสรรส่วนผสมอย่างดีมาใช้ในการผลิตไม่ว่าจะเป็นเนยที่มีไขมันจากนมแท้จริง หรือแป้งที่ไม่มีไขมันทรานส์ และไม่ใช้นำตาลทรายมาเป็นส่วนผสม ที่สำคัญยังเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้วยการนำสัปปะรดภูแลทั้งลูกมาทำเป็นพาย ไม่ใช่การนำเศษเนื้อสับปะรดมากวน ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแรกของไทยที่ผลิต