GDP ไตรมาส 3 โตต่ำที่ 2.4%
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง GDP ไตรมาส 3 โตต่ำที่ 2.4%YOY อีไอซีปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2019 เหลือ 2.5% ส่วนปี 2020 ยังคงคาดการณ์ที่ 2.8% แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2019 ขยายตัวที่ 2.4%YOY จาก 2.3%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวในระดับต่ำแม้จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยฐานต่ำในช่วงปีก่อนหน้า ทั้งนี้การเติบโตแบบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QoQ sa) พบว่าขยายตัวที่ 0.1% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.4% สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจยังคงชะลอต่อเนื่อง
เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่าย (Expenditure Approach) ยังถูกกดดันจากภาคส่งออกที่ยังคงหดตัว ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวชะลอลง
แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าจะหดตัวน้อยลง แต่เกิดจากการส่งออกทองเป็นหลักซึ่งไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงไตรมาส 3 หดหัวที่ -0.3%YOY ชะลอจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวถึง -5.8%YOY อย่างไรก็ดี สาเหตุของการหดตัวน้อยลงของภาคส่งออกเกิดจากการส่งออกทองคำ (ไม่ได้ขึ้นรูป) ในระดับสูง (จากตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ มูลค่าการส่งออกทองในไตรมาส 3 ขยายตัวมากถึง 302.5%YOY ทำให้การส่งออกในภาพรวมที่หดตัว -0.5%YOY หดตัวมากขึ้นเป็น
-4.5%YOY เมื่อหักผลของการส่งออกทอง) ทั้งนี้การส่งออกนำเข้าทองไม่ถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่ได้มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นการส่งออกทองที่เพิ่มมากขึ้น จะถูกหักในส่วนของการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือ (change in inventories) ซึ่งมีผลทำให้ส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือมี contribution to growth เป็นลบมากถึง 4.6 percentage points ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา
ในด้านการผลิต (Production Approach) การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการหดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การผลิตในหมวดอื่นมีการขยายตัวเพียงเล็กน้อย
• การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ -1.5%YOY ตามการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร ยางและพลาสติก และการผลิตรถยนต์
• สาขาการขายส่งและการขายปลีกขยายตัวชะลอลงที่ 5.6%YOY จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.9%YOY โดยชะลอตัวตามการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้าบริโภค
• สาขาการก่อสร้างขยายตัวชะลอลงที่ 2.7%YOY จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.4%YOY โดยการขยายตัวมีสาเหตุจากการก่อสร้างภาครัฐเป็นสำคัญ ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนทรงตัว
• ภาคการเกษตรขยายตัวที่ 1.5%YOY หลังจากหดตัวที่ -1.3%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผล
มาจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตพืชหลัก ได้แก่ พืชผัก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน และในหมวดปศุสัตว์
• ภาคบริการโรงแรมและภัตตาคารได้รับแรงสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 7.0%YOY เทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว 1.4%YOY จึงส่งผลให้ GDP สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ 6.6%YOY เทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว 3.7.%YOY
อีไอซีปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2019 จาก 2.8% เหลือ 2.5% โดยคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายจะขยายตัวประมาณ 2.6%YOY โดยสาเหตุหลักของการปรับลดประมาณการเกิดจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3
ที่ออกมาต่ำกว่าคาด (อีไอซีคาดขยายตัว 2.7%YOY เท่ากับ Bloomberg Concensus) ซึ่งเป็นผลจากภาคเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวมาก โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ผลกระทบของมาตรการ LTV ต่อการลงทุนด้านการก่อสร้าง และการลดลงของยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการลดลงของส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือที่ลดลงมากกว่าคาด ทำให้เป็นปัจจัยกดดันสำคัญของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession) แต่ภาคการผลิต (manufacturing) ยังคงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อ ซึ่งน่าจะทำให้การฟื้นตัวของการจ้างงาน รายได้นอกภาคเกษตรมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยแม้ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวที่ 0.1% ในช่วงไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QoQ sa) แต่ก็นับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2018 อย่างไรก็ดี หากพิจารณา GDP ภาคการผลิต (Manufacturing) พบว่ายังอยู่ในภาวะ technical recession โดยล่าสุด ภาคการผลิตยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า -0.9% QoQ sa ซึ่งเป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2019 (-1.7% และ -0.5% QoQ sa ในไตรมาสที่ 2) ซึ่งจากแนวโน้มการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง บวกกับการสะสมสินค้าคงคลังของสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงเพิ่มขึ้น อีไอซีมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตจะยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ในระยะต่อไป ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าได้มีการหลุดออกจากภาวะ technical recession แล้ว โดยกลับมาขยายตัวได้ 1.0% QoQ sa หลังจากหดตัวสองไตรมาสติดในช่วงครึ่งปีแรกของปี อย่างไรก็ตาม การกลับมาขยายตัวได้ของการลงทุนภาคเอกชนส่วนใหญ่มาจาก การซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องจักร (ขยายตัว 1.4% QoQ sa) ในขณะที่ ภาคการก่อสร้างแม้จะมีการขยายตัวแต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเพียง 0.1% QoQ sa (เทียบกับ 0.0% ในไตรมาสที่ 2/2019)
สำหรับแนวโน้มนโยบายการเงิน อีไอซีมองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 โดยอีไอซีประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่สองของปี 2019 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กนง. น่าจะเห็นความเสี่ยงด้านต่ำต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2019 อยู่บ้างแล้ว สะท้อนจากข้อความ “คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น” ในแถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2019 นอกจากนั้น ในผลการประชุมรอบดังกล่าว กนง. ได้มีการส่งสัญญาณถึงการใช้นโยบายด้านอื่น ๆ นอกจากนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวในการจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างและการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อย่างไรตาม อีไอซี ประเมินว่า กนง. มีโอกาสมากขึ้นที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง (25 basis points) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 หากภาวะเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ (domestic demand) ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงดังกล่าว โดยล่าสุดจากการให้สัมภาษณ์ของ รองประธาณกรรมการ กนง. ได้มีการกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% นั้นไม่ใช่ขีดจำกัดของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy rate floor) หากแต่คณะกรรมการจะพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ (data dependent) และหากมองว่าเศรษฐกิจไทยปรับแย่ลงกว่าที่กรรมการคาดการณ์ไว้ ก็พร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นต่อไปได้.