“สมคิด”ยันไทยไร้ฟองสบู่ ชี้ต่างชาติเข้าคิวลงทุนไทย
“สมคิด” โวยสื่อออนไลน์ แปลข่าวมั่ว อ้าง “สภาธุรกิจไทยระบุว่าไทยมีความเสี่ยงที่สุด” ย้ำเศรษฐกิจไทยไม่พบสัญญาณ “ฟองสบู่” เผยทุนต่างชาติระดับโลกจาก “สหรัฐฯ-อังกฤษ-จีน-ญี่ปุ่น” ทยอยเข้าหารือหวังขยายการลงทุนในไทย ด้าน “อุตตม” เผยคลังพร้อมออกมาตรการรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว ยืนยันระวังการใช้จ่ายงบแผ่นดิน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และนายสันติ พร้อมพัฒนา รมช.คลัง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง นำโดย นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ณ กระทรวงการคลัง เมื่อช่วงสายวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อประเมินสถานภาพเศรษฐกิจของโลก ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในมิติต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อเตรียมมาตรการออกมารองรับในช่วงเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว
รองนายกฯย้ำว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวน แต่ปรากฏกว่ามีกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ ทยอยติดต่อเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง (CCPIT) ที่นำกลุ่มนักลงทุนจากมณฑลกวางตุ้งของจีน เข้ามาขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้บริหารไมโครซอร์ฟและอเมซอนจากสหรัฐฯ และสภาธุรกิจอังกฤษ-อาเซียน รวมถึงธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ( JBIC) สิ่งนี่ สะท้อนภาพที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยสูงมาก
ดังนั้น ตนจึงขอให้กระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกต่อการเข้ามาขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น เนื่องจากนักลุงทุนต่างชาติมองเห็นโอกาสการลงทุนในไทยยังมีสูง เพราะเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย มองเห็นแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ได้กังวลเรื่องปัจจัยเสี่ยง แม้ว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงเตือนระวังการลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆ จากสภาเศรษฐกิจโลก
“ยอมรับว่าที่ผ่านมาแรงซื้อสินค้าและการบริโภคภายด้านต่างๆ มีปัญหาอยู่บ้าง แต่หลังจากที่กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่เริ่มเปิดตัวเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่3 เริ่มมีสัญญาณที่ดีและน่าพอใจ แม้ว่าการส่งออกยังน่าเป็นห่วง เพราะกำลังซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง จึงหวังรายได้จากการส่งออกยากขึ้น จึงสั่งกรมภาษีให้เข้มงวดการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ต้องไม่บั่นทอนการบริโภคของประชาชน” นายสมคิด ย้ำ
ส่วนที่มีเว็บไซต์ข่าวบางสำนักนำเสนอข่าวที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง โดยอ้างอิงข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) จัดอันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจทั่วโลกปี 62 แล้วไปพาดหัวข่าวทำนองว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ และพาดหัวว่า “สภาธุรกิจไทยระบุว่าไทยมีความเสี่ยงที่สุด” นั้น ข้อเท็จจริงคือ ข้อมูลดังกล่าวเป็นการสอบถามความคิดเห็นต่อการเข้ามาลงทุนในช่วง 10 ปีนับจากนี้ จากภาคเอกชน เพื่อประเมินว่าทั้งโลกมีความเสี่ยงจาก 30 ปัจจัยอย่างไรบ้าง โดยในส่วนของไทยเอกชนให้ความเห็น 5 ด้านที่ต้องระวัง หนึ่งในนั้น คือ ปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าไทยมีความเสี่ยงสูงสุด เพราะคำถามคือ ในช่วง 10 ปีข้างหน้าควรระมัดระวังปัจจัยอะไร ไม่ใช่ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจมีสภาพอย่างไร ดังนั้น ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย กานำเสนอข้อมูลต้องกระทำอย่างไม่ควรแปลผิดแปลถูก จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความระมัดระวัง
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องดูแลเศรษฐกิจภาพรวม พร้อมพิจารณาออกมาตรการในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยการจัดสรรงบประมาณปี 63 จะแม้ล่าช้าและเริ่มใช้จ่ายได้จริงในช่วงเดือน ก.พ.63 แต่เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ที่จำเป็น การออกมาตรการในช่วงที่ผ่านมาจึงไม่จำเป็นต้องจากงบประมาณปี 62 อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ที่ทยอยออกมานั้น จะต้องงคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด.