กนอ.จับมือ ปตท.พัฒนาธุรกิจการให้บริการดิจิทัล
กนอ.จับมือ ปตท. ลงนามบันทึกข้อตกลง ร่วมศึกษาพัฒนาธุรกิจการให้บริการดิจิทัลเพื่อร่วมพัฒนาระบบการบริหารจัดการโดยใช้ระบบดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาลมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบต่อไป
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยว่า กนอ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ ปตท. ศึกษาพัฒนาธุรกิจการให้บริการระบบดิจิทัล ที่สอดรับกับนโยบายพัฒนาแพลตฟอร์มการปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industrial Transformation Platform : ITP) และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติพร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมุ่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0
รวมทั้งบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งผู้ประกอบการ ภาครัฐ สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการออกแบบระบบ (System Integrator: SI) ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงมาตรการสนับสนุนต่างๆ อาทิ การขอรับการส่งเสริมการลงทุน การขอรับคำปรึกษา การประเมินความพร้อมและความคุ้มค่าในการลงทุน ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One-Stop Service)
โครงการร่วมกันระหว่าง กนอ. กับ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) จะศึกษาการพัฒนาธุรกิจใหม่ในการให้บริการด้านดิจิทัลภายใต้โครงการนำร่อง (Pilot Project) ร่วมกับโรงงานที่สนใจ ทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรม โดยจะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจฯ เช่น Industrial Transformation Platform Program (ITP Program) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้แต่ละภาคส่วนได้พบปะกัน ทั้งฝั่งผู้ใช้ คือ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และฝั่งผู้ให้บริการ คือ กลุ่ม System Integrator ผู้ผลิตหุ่นยนต์ ซอฟท์แวร์ และเครื่องจักร
รวมถึงฝ่ายสนับสนุน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ พร้อมส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำระบบหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 โดยในเบื้องต้นจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการดำเนินงานเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาฐานข้อมูลร่วมกันให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย การออกแบบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดของเสีย การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ระบบสารสนเทศในการบริการจัดการการผลิต เป็นต้น
นางสาวสมจิณณ์ กล่าวว่าการนำระบบมาใช้ ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงผู้ให้บริการออกแบบระบบที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงได้งานตรงตามความต้องการ และได้รับการส่งมอบงานที่ตรงเวลา ในราคาที่เหมาะสม ทำให้ลดต้นทุนในการจัดหาและจัดซื้อ ตลอดจนสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และราบรื่น ในขณะเดียวกันจะทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิต การใช้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติอย่างแพร่หลาย อันจะนำมาซึ่งการแจ้งแรงงานที่มีทักษะสูง ตรงกับความต้องการในอุตสาหกรรม New S-Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ