“ลุงอเนก”ขนมหวานเมืองเพ็ชร์ที่ต่างด้วยไอเดีย
หากพูดถึงขนมหม้อแกง แน่นอนสิ่งที่คนจะต้องนึกถึงก็คือจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งขึ้นเชื่อเรื่องการทำขนมประเภทดังกล่าวนี้มาอย่างช้านาน ใครที่ผ่านไปผ่านมา หรือมีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยียนก็มักจะต้องซื้อมาเป็นของรับประทาน หรือนำไปเป็นของฝาก
วันนี้ขนมหม้อแกงจากจังหวัดเพชรบุรีมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น สามารถกระจายไปได้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของอายุผลิตภัณฑ์ จากการระดมสมองของลูกหลานเมืองเพ็ชร์ ที่ต้องการสร้างธุรกิจให้เป็นของตนเอง
ขนมเมืองเพ็ชร์ขายนอกเมืองเพ็ชร์
ประวิทย์ เครือทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพชรบุรี ไทยดีเสิร์ท จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นไอเดียในการทำธุรกิจ ว่า เกิดมาจากการรวมกลุ่มของเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นลูกเป็นหลานเมือเพ็ชร์ที่ไปศึกษาและทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยมีความต้องที่ตรงกันนั่นก็คือ การกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด ซึ่งแต่ละคนจะมีคุณพ่อคุณแม่มีอาชีพทำขนม และนำไปฝากจำหน่ายที่ร้านจำหน่ายของฝากเจ้าต่างๆ โดยมักจะมีอุปสรรคในการขยายตลาด เพราะฉะนั้นโจทย์ของงกลุ่มก็คือการนำขนมของเมืองเพ็ชร์ไปจำหน่ายนอกเมืองเพ็ชร์
สำหรับวิธีการทำตลาดในระยะแรกก็คือ การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจัดส่งผลิตภัณฑ์ด้วยการฝากรถตู้ หรือรถทัวร์ และบริการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) หรือการหิ้วขนมไปขายที่กรุงเทพฯเมื่อต้องเดินทางกลับมาทำงาน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค แต่สิ่งที่พบตามมาก็คือแม้ว่าจะดำเนินการไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่กลุ่มก็ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค
ทั้งนี้ กลุ่มจึงมองว่าควรที่จะต้องมีการสร้างชื่อแบรนด์ เพื่อให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภค เพราะขนมหวานเมืองเพ็ชร์เองมีอยู่มากมายหลายชนิด ดังนั้น จึงตกลงกันว่าจะใช้ชื่อว่าแบรนด์ว่า “ลุงอเนก” ซึ่งเป็นชื่อคุณพ่อของตน หลังจากนั้นจึงคิดกันต่อว่าควรจะต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง โดยเลือกขนมหม้อแกงซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงมากของเมืองเพ็ชร์มาเป็นโจทย์
“ขนมหม้อแกงที่เราคุ้นตากันดีตั้งแต่เกิดก็คือการจำหน่ายในรูปแบบเป็นถาด ดังนั้นเราจึงพัฒนามาทำเป็นขนมหม้อแกงในรูปแบบการใช้ฟอยด์มาเป็นถาดรอง หลังจากนั้นก็มีผู้ประกอบการายอื่นทำตามแบบกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราดูไม่มีความแตกต่าง เราจึงกลับมาระดมความคิดกันใหม่ โดยตั้งโจทย์ว่าเมื่อผู้บริโภคเห็นผลิตภัณฑ์แล้วจะต้อง ว๊าว เราจึงนำเสนอออกมาเป็นขนมหม้อแกงถ้วย และมีหูหิ้วสามารถพกพาไปไหนได้แบบสะดวกสบาย รับประทานได้แบบพอดี พร้อมใช้นวัตกรรมยืดอายุให้สามารถเก็บได้นานขึ้น แต่คงความอร่อยไว้เหมือนเดิมตามสูตรของเมืองเพ็ชร์”
ขยายตลาดออกต่างประเทศ
ประวิทย์ บอกต่อไปว่า ขนมหม้อแกงแบบถ้วยได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมากจากผู้บริโภค ทำให้สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ขนมหวานเมืองเพ็ชร์ชนิดอื่นได้ เนื่องจากทางกลุ่มจะมีการรวบรวมขนมทุกชนิด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยปัจจุบันมีขนมกว่า 60 รายการให้ได้เลือก
กลยุทธ์การทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าและรายได้ในปีนี้ แบรนด์จะมีการดำเนินการใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดในรูปแบบขนมหม้อแกงกรอบ โดยใช้นวัตกรรมฟรีซดราย (Freeze dried) และบรรจุในถุงที่สะอาด ซึ่งล่าสุดได้มีการทดลองทำตลาดมาแล้วระยะหนึ่ง โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคจนไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ
และ2.การขยายตลาดไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยปัจจุบันได้มีการเริ่มแนะนำผลิตภัณฑ์ผ่านการออกงานแสดงสินค้าที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวกัมพูชาจะนิยมรับประทานอาหารไทย และขนมไทย โดยขณะนี้มีร้านอาหาร และโรงแรมระดับสูงสั่งผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เพื่อนำไปจัดเป็นเซ็ทอาหารเสิร์ฟให้กับลูกค้า ซึ่งจะเป็นยกระดับร้านหรือโรงแรมให้ดูมีมาตรฐานมากขึ้น
“จากการสำรวจช่องว่างการทำตลาดทำให้แบรนด์พบว่ากัมพูชา เป็นประเทศที่มีระบบการขนส่งจากประเทศไปได้อย่างสะดวกสบายทั้งรถทัวร์ และรถขนส่งโดยตรง แบรนด์จึงเห็นว่าน่าจะเป็นช่องทางที่ดีในการเข้าไปเปิดตลาด อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมาแบรนด์ยังได้นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ประเทศมาเลเซีย ช่วงเทศกาลถือศีลอด ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เนื่องจากแบรนด์มีเครื่องหมายฮาลาลรับรอง ทำให้การทำตลาดเป็นไปได้โดยไม่ยุ่งยาก และยังได้ทดลองนำไปทำตลาดที่ประเทศลาว โดยได้รับการตอบรับที่ดีเช่นเดียวกัน”
ลงทุนเครื่องจักรเพิ่มกำลังผลิต
ประวิทย์ กล่าวต่อไปอีกว่า แบรนด์กำลังดำเนินการเรื่องการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ และผลิตภัณฑ์เดิม โดยคาดว่าน่าจะใช้งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในระยะเวลาอีกไม่นาน พร้อมทั้งขยายพื้นที่โรงงานให้กว้างขึ้น อย่าไรก็ตาม บริษัทยังมีรายได้จากเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นที่ต้องการสร้างแบรนด์ได้นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายด้วย ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท
“ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank มีส่วนช่วยสนับสนุนธีรกิจของบริษัท ทั่งในส่วนของการให้ความรู้ทางด้านการตลาด และการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับธุรกิจ”
สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์แบรนด์ ลุงอเนก ความอร่อยของรสชาติที่เป็นสูตรของจังหวัดเพชรบุรีแท้ รวมถึงเป็นโรงงานที่ได้การรับรองมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ,มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ เป็นเกณฑ์ควบคุมการผลิต หรือ GMP (Good Manufacturing Practice) และการรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยช่องทางการจำหน่ายของแบรนด์จะใช้รูปแบบของการขายส่งให้กับตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศได้นำไปทำตลาดเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันก็จะมีวางจำหน่ายที่ แม็กซ์แวลู (Maxvalu) และจิฟฟี่ (Jiffy) เป็นต้น
ประวิทย์ กล่าวอีกว่า หลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องรักษาเรื่องของคุณภาพให้ได้ตลอด เพราะแบรนด์เน้นการจำหน่ายแบบส่ง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการลดสเป็ก หรือขนาดเพื่อให้ได้ผลกำไรที่มากกว่าเดิม เพราะผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีความฉลาดมากขึ้น ความตรงไปตรงไปเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้การทำธุรกิจเป็นไปได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้จะต้องไม่หยุดการพัฒนา พยายามสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่มอบให้กับผู้บริโภคอยู่เสมอ