ราคาบ้านในจีนพุ่งไม่หยุด
ราคาบ้านในจีนพุ่งสูงขึ้นในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แม้จะมีข้อจำกัดในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์จากหน่วยงานท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นก็ตาม
สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ว่า ราคาบ้านใหม่ ยกเว้นบ้านที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพิ่มขึ้นใน 56 เมือง จากทั้งหมด 70 เมือง ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับตัวเลข 45 เมืองในเดือน ม.ค. และถือว่าสูงขึ้นจากปีก่อน
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. กรุงปักกิ่งได้ตัดสินใจเพิ่มข้อกำหนดการชำระเงินดาวน์สำหรับบ้านหลังที่ 2 ขึ้น 10% หรือระหว่าง 60-80% เพื่อลดความรุนแรงในตลาดราคาบ้านที่สูงขึ้น โดยข้อกำหนดดังกล่าวจะบังคับใช้กับผู้ซื้อบ้านที่ไม่ได้มีบ้านเป็นของตัวเองแต่เคยจำนองบ้านที่มีเกณฑ์ดาวน์เท่ากัน ซึ่งจะทำให้การจะขายบ้านเพื่อต่อเติมให้ใหญ่ขึ้นและเเพงขึ้นเป็นเรื่องยาก
แหล่งการส่งออกทางตอนใต้อย่างเมืองกว่างโจว เมืองชายฝั่งอย่างชิงเต่า และเมืองหนานจิงที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือก็มีมาตรการรัดกุมเช่นเดียวกับปักกิ่ง ส่วนเมืองฉางชา หรือเมืองหลวงของมลฑลหูหนานกลายเป็นอีกเมืองที่ได้เข้ามาอยู่ในอันดับ 56 เมืองที่มีราคาพุ่งขึ้นสูงเมื่อวันที่ 18 ที่ผ่านมา
นายเจีย ต้าน นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการสื่อสารที่มีฐานบริษัทอยู่ในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า “ รัฐบาลต้องการที่จะต้านไม่ให้ราคาบ้านนั้นสูงไปมากกว่านี้ และต้องการให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่คงที่ในภายภาคหน้า ”
โดยนายเจียเสริมอีกว่า หากมีการปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้สูงขึ้น ราคาบ้านเองก็จะสูงขึ้นตามไปด้วยและรัฐบาลไม่ต้องการให้ราคาดังกล่าวสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสภาวะฟองสบู่แตกในอนาคต
เมืองใหญ่ในจีนมีราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปีก่อน เช่นกรุงปักกิ่ง ราคาบ้านใหม่ในเดือน ก.พ.ปีนี้เพิ่มขึ้นกว่า 24% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2559 ส่วนเซี่ยงไฮ้มีราคาบ้านเพิ่มขึ้น 25% ในขณะที่เมืองเสิ่นเจิ้นเพิ่มขึ้น 14%
นายจาง หงเหว่ย ผู้อำนวยการนักวิเคราะห์ในบริษัททอสเปอร์ เรียล เอสเตท คอนซัลติง ที่มีฐานในเมืองเซี่ยงไฮ้กล่วว่า “ แผนการรัดเข็มขัดของกรุงปักกิ่งจะมีผลในการปรับสมดุลให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์เพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่อำนาจของนโยบายต่างๆจะอ่อนแอลงในระยะยาว ”
คริสตี้ ฮอง นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์กบันทึกไว้ว่า มาตรการต้านราคาบ้านในจีนทำให้นักลงทุนลดความต้องการลงเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น.