ครม.คลอดแพ็กเกจดูแลผู้สูงอายุ
ครม.ไฟเขียว 4 มาตรการของกระทรวงการคลังที่รวบรวมเป็นแพ็กเกจในการดูแลผู้สูงอายุ มั่นใจสังคมไทยเมื่อเข้าสู่สังคมคนชราแล้ว จะลดภาระงบประมาณได้
“ ความโดดเด่นของมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา กรณีอนุมัติ 4 มาตรการเพื่อช่วยเหลือและรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ การตั้ง กบช.จะทำให้คนไทยที่ทำงานในระบบมีรายได้ขั้นต่ำประมาณ 50% ของเงินเดือนสุดท้ายหลังเกษียณ ” นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงข่าวที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 9 พ.ย.59 เพื่อตอกย้ำมติ ครม.และฉายภาพผลงานของรัฐบาล เป็นคำรบที่สอง
ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ได้เห็นชอบร่างกฎหมายใหม่ 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ… 2. ร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ… และ 3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร (ฉบับที่…) พ.ศ… เพื่อรองรับที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2568 ที่จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ต่ำกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐใช้งบประมาณมากขึ้นทุกปีในการจัดสรรสวัสดิการกรณีชราภาพให้กับประชาชน โดยปีงบประมาณ 2559 ต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินสมทบเข้ากองทุนการออมเพื่อเกษียณ 287,000 ล้านบาทและคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ในอีก 8 ปีข้างหน้า ถึง 698,000 ล้านบาท
สำหรับมาตรการที่กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการตามกฎหมายใหม่ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 4 มาตรการที่สำคัญคือ
1. การจ้างงานผู้สูงอายุ เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างสำหรับการจ้างบุคลากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ซึ่งมีอัตราค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดย นายจ้างสามารถขอใช้สิทธิได้ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ทั้งนี้ ลูกจ้างจะต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการ กรรมการ ผู้บริหาร หรือเคยเป็นผู้บริหารของกิจการ
2. การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้มีที่พักอาศัยที่ปลอดภัย มีอุปกรณ์ใช้สอยที่เหมาะสม และอยู่ในความดูแลของแพทย์และพยาบาล โดยมีการพิจารณา ดังนี้
2.1 มอบหมายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินโครงการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 4 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี นครนายก เชียงราย และเชียงใหม่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 135 ไร่ โดยกำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมในอัตราเดียวกันกับโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ (อัตราค่าเช่า เท่ากับ 1 บาทต่อตารางวาต่อเดือน และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าเท่ากับ 2 เท่าของค่าเช่า 1 ปี) ยกเว้นพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูง ให้กำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ผู้เช่าจะได้รับสิทธิในการเช่าเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยทางราชการอาจต่ออายุสัญญาเช่าออกไปอีกเป็นระยะเวลา 30 ปี
2.2 มอบหมายการเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ดำเนินการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยให้นำหลักการของโครงการบ้านมั่นคงและบ้านประชารัฐมาใช้กับการดำเนินการดังกล่าว
2.3 เห็นชอบให้ยกเว้นการนำกฎหมายผังเมืองมาบังคับใช้กับที่ราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ ให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex)
2.4 ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารสงเคราะห์ สนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Pre-finance) ในวงเงินรวมไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และเห็นควรให้มีการจัดสรรวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Post-finance) เพื่อรองรับการดำเนินโครงการในระยะต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ให้บุตรที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูบิดามารดาที่สูงอายุได้รับสิทธิในการสนับสนุนสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวเป็นลำดับแรกก่อน
3. สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage : RM) มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจนำร่องเพื่อดำเนินการมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) เพื่อให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขี้นไป สามารถนำที่อยู่อาศัยที่ตนมีกรรมสิทธิ์และปลอดภาระหนี้มาเปลี่ยนเป็นรายได้ในการดำรงชีพเป็นรายเดือน
4. การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ
4.1 เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. เพื่อให้มีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายในการพัฒนาและกำกับดูแลระบบบำเหน็จบำนาญให้มีความครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน รวมทั้งจัดมีระบบฐานข้อมูลกลางด้านบำเหน็จบำนาญของประเทศ
4.2 เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี ครอบ คลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนจาก 2 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับบำนาญหรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปี เพื่อให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวมีรายได้ที่เพียงพอ ในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ โดยกำหนดให้ กบช. เปิดรับสมาชิกตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป โดยคาดว่า รายได้จากกบช.เมื่อรวมกับรายได้จากเงินกองทุนประกันสังคมแล้ว จะทำให้แรงงานในระบบมีรายได้หลังจากเกษียณประมาณ 50% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย.