“มาโย่”เนื้อหมูแปรรูปรสชาติที่ต้องลิ้มลอง
ธุรกิจจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนา หรือต่อยอด เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าธุรกิจนั้นจะประสบความสำเร็จอยู่แล้วก็ตาม เพราะการย่ำเท้าอยู่กับที่ และพอใจอยู่กับแค่ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างจีรัง และยั่งยืน
“เนื้อหมูแปรรูปในรูปแบบของหมูหยอง และหมูแผ่นแบรนด์ มาโย่” คือหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจที่มีการต่อยอดธุรกิจให้เกิดความหลากหลาย โดยผสมผสานแนวความคิดให้กับวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้อย่างลงตัว เพื่อส่งต่อผลิตภัณฑ์คุณภาพสู่ผู้บริโภค
ต่อยอดธุรกิจดั้งเดิม
“ชัยกานต์ มาแทน” กรรมการบริหาร บริษัท ซี แอนด์ ที ฟู้ดส์ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการทำธุรกิจว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวภรรยา และได้ดำเนินการย้ายมายังที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบเกี่ยวกับหมูชั้นดีจากฟาร์มเลี้ยงหมูที่มีเป็นจำนวนมากเมื่อปี 2549 โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ และพัฒนารสชาติให้มีความหลาหลาย โดยเน้นทำตลาดที่หมู่แผ่น และหมูหยองภายใต้ชื่อแบรนด์ “มาโย่”
เดิมทีผลิตภัณฑ์แบรนด์ มาโย่ จะจำหน่ายในรูปแบบของฝากที่ร้าน โดยเป็นการผลิตและจำหน่ายแบบสด ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อตลาดมีการเปลี่ยนแปลงยอดขายก็ลดน้อยถอยลง ตนจึงมองหาแนวทางในการพัฒนา และต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนสูตร และรูปแบบของการแปรรูปให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ด้วยนวัตกรรมและเครื่องเทศรสชาติแบบอาหารใต้ที่ผสมผสานลงไปจนเกิดเป็นรสชาติที่ลงตัว
สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดของแบรนด์ในปัจจุบัน จะมุ่งเน้นการจำหน่ายผ่านห้างโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก โดยล่าสุดสามารถนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางจำหน่ายได้แล้วที่บิ๊กซี ห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์ และท็อปมาร์เก็ต จากเดิมที่เป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของการผลิตและจำหน่ายแบบสดใหม่ในร้านขายของฝากที่จังหวัดพัทลุง
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าแบรนด์จะดำเนินการขยายช่องทางในการทำตลาดไปสู่โลตัส และเซเว่นอีเลฟเว่นเพิ่มเติม เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ให้กว้างขวางมากขึ้น โดยขั้นตอนในปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางจำหน่าย นอกจากนี้ แบรนด์ยังดำเนินการในส่วนของการรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อให้ลูกค้าได้นำไปสร้างแบรนด์ของตนเองด้วย แต่จะอยู่ภายใต้ผลิตภัณฑ์ที่บริษัททำเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว โดยมองว่าเป็นแนวทางในการปิดช่องทางของคู่แข่งที่จะเข้ามาในตลาด และสร้างความคุ้นชินในเรื่องของรสชาติให้กับผลิตภัณฑ์
“นอกจากช่องทางของโมเดิร์นเทรดแล้ว แบรนด์ยังมีศูนย์จำหน่ายสินค้าที่เป็นของตนเองที่ร้านมาโย่หมูทองท่าแคที่จังหวัดพัทลุงด้วย ขณะที่ช่องทางในการทำ OEM ถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญของแบรนด์ เพราะเป็นการป้องกันคู่แข่งที่จะเข้ามาในตลาดเดียวกันได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันที่โมเดิร์นเทรดแห่งหนึ่งมีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเดียวกันจำหน่ายอยู่ 3 แบรนด์ ปรากฎว่าเป็นของบริษัทเอง 1 แบรนด์ และเป็นของที่บริษัททำ OEM ให้อีก 2 แบรนด์”
สยายปีกออกต่างประเทศ
ขณะที่การขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศนั้น แบรนด์จะดำเนินการปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดมาดำเนินการด้วยตนเอง หลังจากที่ผ่านมาได้ดำเนินการในรูปแบบของการฝากตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ไปยังกลุ่มประเทศใน CLMV อย่างเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์ โดยจะมุ่งเน้นในกลุ่มประเทศดังกล่าวนี้เป็นหลัก หลังจากที่ผ่านมาเคยนำผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายที่ประเทศไต้หวัน และจีน แต่ติดปัญหาเรื่องของการกีดกันทางการค้าประเภทเนื้อสัตว์ที่ค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งประเทศในกลุ่ม CLMV จะสะดวกสบายมากกว่า
“ในส่วนของช่องทางผ่านออนไลน์นั้น แบรนด์มีการดำเนินการผ่านแอพพิเคชั่นลาซาด้า (Lazada) และเพจเฟสบุ๊กของบริษัท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อปริมาณมากและนำไปแบ่งขาย ขณะที่ช่องทางผ่านเว็บไซด์ (www.mayo.co.th) จะถูกใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ และให้ข้อมูลของบริษัท เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ”
จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทในปีนี้ และจะเติบโตขึ้นเป็น 100 ล้านบาท จากการขยายตลาดเข้าสู่โมเดิร์นเทรดที่เพิ่มมากขึ้น โดยต้องเรียนว่าปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทเริ่มเข้าทำตลาดผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด หลังจากที่ผ่านมาไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการนำผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ทำให้ติดปัญหาเรื่องของบรรจุภัณฑ์ สรรพคุณหน้าซองสินค้า และตัวเลขเครื่องหมายการค้า เป็นต้น
“ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนช่วยธุรกิจเป็นอย่างมากในช่วงที่ประสบปัญหา ด้วยความที่ธุรกิจขยายตัวมาได้ด้วยการเป็นร้านขายของฝาก ซึ่งขายดีมากในช่วงปี 44-45 หลังจากนั้นยอดก็ตกลงตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค เราจึงต้องปรับตัวเพื่อเข้าโมเดิร์นเทรด แต่ก็จะต้องมีค่าใช่จ่ายในหลากหลายเรื่องเพื่อดำเนินการ บริษัทก็ได้เงินทุนหมุนเวียนจาก ธพว. เข้ามาช่วยสนับสนุน เรียกว่าเป็นการช่วยฉุดธุรกิจให้สามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้”
เน้นคุณภาพแฃะความปลอดภัย
สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์มาโย่ อยู่ที่การแปรรูปเนื้อหมูที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด ผสมผสานกับรสชาติที่ประยุกต์เข้ากับรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของทางภาคใต้ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างความแปลกใหม่ และน่าสนใจสำหรับผู้บริโภค ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แบรนด์ มาโย่ ที่บริษัทเน้นการทำตลาดประกอบด้วย หมูแผ่นรสดั้งเดิม รสลาบ รสสมุนไพร รสคั่วกลิ้ง เช่นเดียวกับรสชาติของหมูหยอง ซึ่งมีการปรับนำรสชาติดังกล่าวเข้ามาร่วมด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางในการทำตลาดให้มากขึ้น จากเดิมที่หมูหยองจะถูกมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ป่วย และผู้สูงอายุ
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของแบรนด์ มองว่าอยู่ที่การไม่เคยหยุด เพราะตนมองว่าการหยุดก็คือการถอย อีกทั้งการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันจะต้องไม่ใช่แค่การมุ่งหวังผลกำไร โดยเฉพาะเมื่อบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมของอาหาร ยิ่งต้องให้ความใส่ใจกับเรื่องของคุณภาพ รวมถึงความปลอดภัย และโรงงานจะต้องได้มาตรฐานรับรองในการผลิต
เบอร์ติดต่อ 081-8988317,064-1802396