“U Zophar”กระเป๋าแฮนด์เมดจากช่างฝีมือตัวจริง
ความใฝ่ฝันของวัยรุ่นส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาก็คือการได้ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง มีเงินเดือนในระดับสูง ได้แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแฟชั่นทันยุคทันสมัย และต้องการมีสังคม น้อยคนนักที่จะมีความมุ่งมั่นกลับไปสานต่อกิจการของที่บ้าน หรือธุรกิจของครอบครัว หากไม่ได้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่
“อัญญพัชญ์ ทวีพัฒน์เจริญ” คือหญิงสาวที่ยอมรับตามตรงว่า ในช่วงชีวิตที่เป็นวัยรุ่นสมัยที่เรียนจบใหม่ เลือกที่จะทำงานบริษัทเป็นมนุษย์เงินเดือนมากกว่าการกลับไปสานต่อกิจการของครอบครัว เพราะความรู้สึกชินชากับการได้เห็นกิจการมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่มีความท้าทาย แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศได้ทำให้ตัวเธอหันกลับมามองธุรกิจที่เป็นรากฐานของครอบครัวที่ส่งให้ตัวเธอสามารถเรียนจบการศึกษามาได้ และหันมาเริ่ม Startup ธุรกิจของตนเองขึ้นมาภายใต้แบนด์ “ยู โสภา” (U Zophar) เมื่อช่วงต้นปี 2561
–กลับสู่ธุรกิจของครอบครัว
อัญญพัชญ์ เจ้าของธุรกิจ ร้านยูกิบิวตี้ฟาย (UKI BEAUTIFY) บอกถึงทีมาที่ไปของจุดเริ่มต้นไอเดียในการหันมาสานต่อธุรกิจของครอบครัวว่า การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยที่ตัวเธอพูดถึงคือการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจของคนไทยทั้งประเทศรวมถึงตัวเธอ โดยเป็นจุดที่ทำให้เธอได้กลับมาฉุกคิดถึงปรัชญาที่พระองค์ทรงสอนเอาไว้ในเรื่องของการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิต ตัวเธอจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัวที่ตัวเธอคุ้นเคย และเป็นธุรกิจที่ทำให้ตัวเธอได้เรียนจนจบการศึกษา จนได้เข้าทำงานบริษัทในปัจจุบัน
ประจวบเหมาะกับที่ช่วงก่อนหน้านี้ตนเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัทสัญชาติอเมริกาที่ตนเองทำงานอยู่ ซึ่งมีการถอนหุ้น และย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่า โดยโรงงานที่ตนเองทำงานอยู่มีการลดกำลังการผลิตลง และมีการให้พนักงานบางส่วนออก แต่ตนอยู่ในระดับที่เป็นฝ่ายบริหารจัดการเลยยังได้ทำงานต่อ ซึ่งจากจุดดังกล่าวทำให้ตนมองไปถึงเรื่องความมั่นคงในอนาคต และคิดว่าจะกลับมาทำธุรกิจเป็นของตนเอง โดยจากทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของธุรกิจแบรนด์ ยู โสภา
ทั้งนี้ ธุรกิจของครอบครัวที่ตัวเธอหันกลับมาหาก็คือ การผลิตกระเป๋าหนังสตรีแบบทำมือ หรือแฮนด์เมด (Handmade) ซึ่งคุณพ่อของเธอได้อยู่ในวงการมาตั้งแต่ตัวเธอยังไม่เกิด และได้เริ่มต้นธุรกิจอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2534 โดยการสร้างโรงานผลิตกระเป๋าเป็นของตนเอง หลังจากที่คุณพ่อได้เป็นช่างฝีมือ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำยุคของวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2540 ทำให้ธุรกิจของครอบครัวได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในปี 2543 ทีมงานและทีมช่างทั้งหมดต่างก็แยกย้ายกลับไปยังภูมิลำเนาของตนเพื่อไปทำอาชีพอื่น
“ในช่วงเวลานั้นตนใกล้ที่จะเรียนจบแล้ว โดยเมื่อจบการศึกษาในปี 2546 ก็ไปทำงานบริษัทเป็นพนักงานออฟฟิตทั่วไป โดยเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกา ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีความคิดที่จะกลับไปสานต่อธุรกิจของครอบครัว แต่ด้วยส่วนลึกของจิตใจแล้วไม่เคยลืมธุรกิจที่ส่งเสียตนเองมาตั้งแต่เล็กจนโต และคิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องกลับไปทำ”
–ฝีเข็มปราณีตและละเอียดทุกขั้นตอน
อัญญพัชญ์ บอกต่อไปอีกว่า จุดเด่นของกระเป๋าแบรนด์ ยู โสภา คือ ความเป็นงานฝีมือ ความเนี๊ยบ และความประณีตในการผลิตกระเป๋าออกมาแต่ละใบ แต่มีราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ผู้บริโภคระดับกลางสามารถเข้าถึงได้ โดยความมีคุณภาพของงานมาจากการที่คุณพ่อมีประสบการณ์ในการทำงานให้กับแบรนด์ดังระดับประเทศมาโดยตลอด ในลักษณะของการรับเหมามาผลิตให้จากพ่อค้าคนกลางซึ่งกระจายงานมาให้ เพราะฉะนั้นจึงมั่นใจได้ในงานฝีมือ และค่อนข้างหายากในท้องตลาดทั่วไป ด้วยฝีเข็ม และการเย็บที่ละเอียด โดยจะไม่ใช่การทำงานในลักษณะของการรับจ้างผลิตเอาปริมาณ
“ด้วยความเป็นศิลปินของคุณพ่อ หากเห็นว่างานไม่ดีก็จะเลาะออกมาทำใหม่ทั้งหมด ไม่มีการปล่อยผ่าน ที่สำคัญเป็นงานแบบแฮนด์เมด อีกทั้งยังมีการรับประกันตลอดอายุการใช้งานของกระเป๋า ซึ่งการซ่อมของคุณพ่อจะไม่ได้เป็นการตัดเย็บแล้วแปะ แต่การซ่อมแทบจะเป็นการเปลี่ยนใบใหม่ให้ทั้งใบเลยก็ว่าได้”
ส่วนช่องทางการทำตลาดจะมีทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ โดยในส่วนของออนไลน์จะเป็นการดำเนินการผ่านเว็บไซด์อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce), อินสตราแกรม (IG), เฟสบุ๊ก (Facebook) และไลน์แอด (Line@) ขณะที่การทำตลาดออฟไลน์จะดำเนินการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าผ่านร้านแมชบอกซ์ (Matchbox Multi-Brand Store) ที่สาขาเซ็นทรัลพระราม 2 และจำหน่ายที่ร้านสหกรณ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสำนักงานใหญ่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
นอกจากนี้ แบรนด์ ยู โสภา ยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับกลุ่มคัตเตอร์เครื่องหนังไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) โดยเข้าร่วมโครงการแพลตฟอร์มที กู๊ด เทค หรือระบบการค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งการจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ยู โสภา และการรับจ้างผลิต (OEM) อีกทั้ง แบรนด์ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเว็บไซด์อย่างเป็นทางการของแบรนด์เอง ซึ่งขั้นตอนล่าสุดได้มีการจดโดเมนเนมเรียบร้อยแล้ว
“แบรนด์ ยู โสภา ต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งในการสร้างแบรนด์ โดยปริมาณการผลิตยังไม่ได้จำนวนตามที่ต้องการ หากมีการจับจ้างผลิตด้วยก็จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้กับธุรกิจด้วย ซึ่งจะมาจากการออกงานแสดงสินค้าผ่านโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ดี แบรนด์ยังมีแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังภูมิภาคเอเชีย โดยจะเริ่มต้นที่ประเทศกัมพูชาเป็นลำดับแรก ซึ่งขณะนี้ได้มีการติดต่อกับคนรู้จัก โดยมีความสนใจที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่กรุงพนมเปญ”
–รักในสิ่งที่ทำนำพาสู่ความสำเร็จ
อัญญพัชญ์ บอกอีกว่า หลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของตนนั้น อาจจะไม่ใช่หลักทางการตลาด แต่มาจากจากความรัก หรือความชอบในงาน ซึ่งจะทำให้ตนเองไม่เกิดความย่อท้อ ยกตัวอย่าง คุณพ่อซึ่งเคยอยู่ในจุดสูงสุดมาก่อน และลงมายังจุดต่ำสุด แต่ก็ยังไม่มีความคิดที่จะเลิกทำอาชีพนี้ เพราะอาหกไปทำอาชีพอื่นจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ใช่ เป็นเสมือนความรักในอาชีพที่ต้องการจะทำ และต้องการนำเสนอต่อลูกค้า โดยจะต้องรู้จักการออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อสร้างการยอมรับจากลูกค้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องของช่องทางการทำตลาดของตนที่ไม่หยุดนิ่ง เรียกว่าไม่ปิดกั้นเทคโนโลยี แต่พร้อมที่จะเปิดรับ และเรียนรู้ เพื่อดูว่าช่องทางการทำตลาดจุดใดที่จะช่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์ จนก็จะนำผลิตภัณฑ์ไปสู่ช่องทางนั้น ตนยอมลงทุนที่จะไปเรียนเพื่อให้รู้การทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์จะต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ตนยังได้เปรียบในเรื่องของภาษจากการทำงานให้กับบริษัทต่างชาติ จึงคิดว่าจะนำประโยชน์ตรงนี้มาช่วยทำให้แบรนด์ไปสู่ตลาดต่างประเทศ ให้ผู้บริโภคได้รู้จักผ่านการสื่อสารที่ชัดเจน ซึ่งทั้งหมดจะช่วยทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต.