“K&K Balance”กายภาพบำบัดปรับสรีระร่างกาย
เป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ย่อมหมายถึงผลตอบแทนทางด้านของกำไรในรูปของเงินที่จะได้รับกลับคืนมาจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค แต่ก่อน กิติมา หัตถีรัตน์ ก็มีความคิดในเชิงธุรกิจแบบนั้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหญิงเก่งมากความสามารถในเชิงธุรกิจผู้มีประสบการณ์โชกโชนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ และเฟอร์นิเจอร์ส่งออกอย่าง กิตติมา ได้ค้นพบความสำคัญของการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มากกว่าผลกำไรที่ได้กลับคืนมา แต่เป็นเรื่องของการดูแลสุขภาพให้กับลูกค้าภายใต้ธุรกิจใหม่
–จากประสบการณ์สู่ธุรกิจ
กิติมา ในฐานะประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เค เค สรีระสมดุลด้วยกายภาพบำบัด จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจครั้งใหม่ ว่า มีสถานประกอบการเกี่ยวกับการกายภาพบำบัดต้องการที่จะเซ้งกิจการ ตนจึงไม่ลังเลที่จะเซ้งกิจการมาทำต่อด้วยความเต็มใจ เพราะด้วยส่วนลึกอยู่แล้วมีความตั้งใจที่จะเปิดศูนย์บริการเพื่อวัยเกษียณ แต่เมื่อมีโอกาสตรงนี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ โดยให้ชื่อว่าคลินิกสรีระสมดุลคลินิกกายภาพบำบัด ซึ่งบริหารภายใต้แบรนด์ K&K Balance โดยการให้บริการของคลินิกจะประกอบไปด้วย 1.ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (Orthopedics system), 2.ระบบประสาท (Neurological system), 3.ระบบหัวใจและปอด (Cardiopulmonary system) และ4.ภายภาพบำบัดในเด็ก (Pediatric Physical Therapy)
“กว่า 30-40 ปีที่ตนเป็นนักธุรกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ และทำเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ส่งออก แต่ด้วยความที่มีอายุมากขึ้น และเป็นคนที่รักสุขภาพ โดยเป็นคนที่ดูแลตัวเองมาตลอด ไม่เคยที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะอาการป่วยขนาดหนัก โดยตนเป็นคนที่ชอบนวดแผนโบราณมาก ซึ่งว่าจ้างหมอให้มานวดที่บ้านเป็นเวลา 10 ปี 3 วันต่อครั้งในเวลากางคืนก่อนนอน แต่หลังจากนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ตนเองนั่งนานไม่ได้ จะมีอาการปวดหลัง เมื่อไปทำการตรวจเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) พบว่ากระดูกเคลื่อนไปเล็กน้อย จึงไปหาหมอกระดูก และพบสาเหตุที่เป็นก็เพราะไปทำกับผู้ที่ไม่รู้เรื่องแบบนี้ ตนจึงสนใจและตั้งใจว่า เมื่ออายุมากขึ้นรวมถึงมีเวลาและกำลังจะต้องเปิดเป็นศูนย์วัยเกษียณรักษาร่างกาย แต่บังเอิญมาได้ทำธุรกิจดังกล่าวนี้ก่อน”
–มีความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ครบถ้วน
สำหรับจุดเด่นในการให้บริการของคลินิกนั้น จะอยู่ภายใต้สโลแกน “รักษาตรงจุด ไม่เลี้ยงไข้ ไม่ใช้ยา” โดยมีนักกายภาพที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า 10 คน ซึ่งจะคัดเฉพาะนักกายภาพที่มีความรู้ทางด้านกายวิภาคศาสตร์ที่ครบถ้วนเท่านั้นมาให้บริการ โดยที่ทุกคนจะเรียนการผ่าศพอาจารย์ใหญ่ แต่จะเป็นการเรียนเฉพาะกระดูกกับเส้นเอ็น และภายในทั้งหมดว่ามันอยู่ตรงไหน อย่างไร เพื่อเวลารักษาปรับสมดุลให้ร่างกาย ซึ่งในความหมายของนักกายภาพก็คือการปรับกระดูกและเส้นเอ็นให้อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่
นักกายภาพที่คลินิกจะมีความเชี่ยวชาญในทุกสาขา ขณะเดียวกันคลินิกเองก็จะมีการส่งไปอบรม และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมโดยตลอดจากทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพในการให้บริการ ขณะที่เครื่องมือทางการรักษาที่นำมาใช้ควบคู่กันก็จะเป็นเครื่องมือที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยรักษาอาการบาดเจ็บบางจุดที่มือไม่สามารถรักษาได้
“กลุ่มลูกค้าเป้าหมายนั้น ช่วงที่เริ่มทำธุรกิจคาดว่าจะเป็นกลุ่มวัยเกษียณ แต่ความเป็นจริงกลับเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องจากเป็นโรคออฟฟิตซินโดม รองลงมาจะเป็นกลุ่มของนักกีฬา ซึ่งจะมากันเป็นทีมประมาณ 10-20 คน โดยที่ผู้ฝึกสอน หรือพ่อแม่จะพามา และชักชวนเพื่อนๆมาด้วย โดยมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการบอกต่อกันไปแบบปากต่อปาก”
–ทุ่มงบกว่า100 ล้านทำศูนย์วัยเกษียณ
กิติมา กล่าวต่อไปถึงแผนในการขยายธุรกิจด้วยว่า ขณะนี้ได้ใช้งบลงทุนไปมากกว่า 100 ล้านบาท เพื่อทำเป็นศูนย์วัยเกษียณในรูปแบบของโฮมสเตย์แบบครบวงจร บนพื้นที่ 3 ไร่ของทำเลเขตดอนเมือง โดยภายในศูนย์จะมีบริการทางด้านกายภาพ มีสระว่ายน้ำที่เป็นวารีบำบัด มีห้องประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ และเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 7 เดือนจะแล้วเสร็จ โดยการทำตลาดในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศก่อน ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็ได้มีการโรดโชว์ที่ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์ดังกล่าวนี้เป็นเสมือนการต่อยอดธุรกิจของ K&K Balance ซึ่งจะให้บริการเฉพาะกายภาพเท่านั้น ผู้ป่วยไม่สามารถค้างคืนได้ตามกฎหมายของการเปิดคลินิก และมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยประมาณ 22 เตียงเท่านั้น แต่ที่ศูนย์ฯจะมีเตียงเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 100 เตียง โดยทั้ง 2 แห่งจะมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งตนมีความตั้งใจที่จะให้บริการรักษาแบบมีกลไกล เหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีรถรับส่งผู้ป่วยแบบเช้าไปเย็นกลับตามที่ได้ไปศึกษาดูงานมา เพราะมองว่ายุคปัจจุบันมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ลูกหลานมีฐานะร่ำรวยแต่ไม่ค่อยมีเวลาดูแล ต้องการบริการดังกล่าวแบบนี้อยู่อีกมาก
“หากถามถึงเป้ารายได้ในการทำธุรกิจ ตนคงไม่ได้มุ่งเน้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ขอเพียงแค่การบริหารงานให้มีกำไรก็พอ โดยเป้าหมายที่แท้จริงก็คือ การรักษาคนไข้ให้ได้มากที่สุด รวมถึงทำอย่างไรให้คนไข้เข้าใจเรื่องของสรีระ และจะต้องทำอย่างไรให้หายป่วย นอกจากนี้จะต้องทำให้คนไม่ป่วยรู้จักรักษาตัวเองให้ได้ ดังนั้น ตนจึงวางเป้าหมายหลักไว้ที่การให้บริการ หลังจากนั้นทุกอย่างก็จะตามมาไม่ว่าจะเป็นลูกค้าและรายได้ แต่หากตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขการให้บริการทุกอย่างก็จะหย่อนยานลง เพราะจะไม่สนใจเรื่องคุณภาพ มุ่งแต่จะทำให้ได้ตามเป้า ซึ่งเป็นการกดดันการทำงาน โดยตนเลือกที่จะให้หุ้นของบริษัทกับนักกายภาพทุกคน โดยจะทำให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และต้องบริการให้ได้ดีที่สุด”
–คนไข้ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง
ขณะที่หลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น จะเลือกให้ความสำคัญกับลูกค้า หรือคนไข้มาเป็นลำดับแรก โดยมีบริษัทตามมาเป็นลำดับที่ 2 และพนักงานเป็นลำดับที่ 3 ยกตัวอย่างเช่น ตนชอบอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ตนก็จะไม่ได้บอกว่าชอบผู้เขียน แต่จะบอกว่าชอบที่หนังสือพิมพ์ คอลัมน์ไหน หลังจากนั้นจึงจะมาดูว่าคอลัมน์นั้นผู้ใดเป็นคนเขียน วิธีคิดของบริษัทก็เช่นเดียวกันเพราะในเวลาที่คลินิกรักษาคนไข้ คนไข้จะไม่พูดถึงบริษัท แต่จะบอกว่าว่ามารักษาที่คลินิก
“นักภายภาพ และพนักงานทุกคนจะมุ่งเน้นว่าคนไข้ต้องมาอันดับหนึ่ง ชื่อเสียงของบริษัทมาอันดับ 2 ผู้ที่ทำการรักษาต้องเป็นอันดับ 3 เราถึงจะอยู่ได้ และรักษาตรงจุด ไม่เลี้ยงไข้ ไม่ใช้ยา ตามสโลแกน อีกทั้งยังเน้นเรื่องของจริยธรรมของนักกายภาพด้วย”
ด้านภาพรวมของธุรกิจในอนาคต ต้องการให้คนไทยหันมาดูแลตัวเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยภาพลักษณ์ของคนไทยที่เป็นคนรักความสบาย และมักจะไม่ค่อยไปโรงพยาบาลหากไม่เจ็บป่วนรุนแรงจนทนไม่ไหวจริงๆ ดังนั้น จึงต้องการให้ทุกคนมีระเบียบวินัยในการดูแลตัวเอง การเจ็บป่วยก็จะลดน้อยลง โดยใช้การให้บริการของคลินิก หรือที่ศูนย์ฯเป็นตัวกลางในการรักษาสุขภาพ.