“Zequenz”สมุดแฮนด์เมดโดดเด่นด้านอัตลักษณ์
ธุรกิจจะต้องมีอัตราการเติบโต และสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน น่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดในลำดับต้นๆของผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะนั่นหมายถึงความสำเร็จของธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในตลาด แต่วิธีการที่จะทำได้ไม่ได้มีสูตรที่สำเร็จตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับเจ้าของกิจการว่าจะมีการดำเนินกลยุทธ์อย่างไรให้สามารถมีพื้นที่ทางการตลาดได้อย่างยาวนาน
บริษัท ซีนิธ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด คือบริษัทที่ดำเนินกิจการมาแล้ว 30 ปี โดยยึดอยู่บนแนวทางที่ถนัด แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันต่อยุคสมัย และเลือกใช้ความมีอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์มาเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ด้วยความแตกต่างที่เรียบง่ายแต่มีคุณค่า
–จุดเริ่มต้นของธุรกิจ
นลิน ดำรงกิจการ บริษัท ซีนิธ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นทางธุรกิจ ว่า มาจากการทำธุรกิจเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษสาแบบทำมือ หรือแฮนด์เมด (Handmade) รุ่นแรกๆ โดยมีโรงงานอยู่ทางภาคเหนือ ซึ่งมีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ โดยมีผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด แต่อยู่บนพื้นฐานของกระดาษาสา ซึ่งยึดหลักของความเป็นอาร์ตแอนด์คราฟ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ “Zeni Craft”
“ในตอนนั้นเราส่งออกไปยังเอเชีย และยุโรปกว่า 10 ประเทศเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยที่ไม่ได้มีการสร้างแบรนด์อย่างจริงจังในขณะนั้น พร้อมกับมีการทำตลาดในรูปแบบของการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ODM) ให้ลูกค้าได้นำไปทำแบรนด์ของตนเอง ซึ่งให้มูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าการรับจ้างผลิตแบบทั่วไป (OEM) ที่จะเน้นการผลิตจำนวนมาก แข่งกันที่ต้นทุนและราคาขาย”
อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินธุรกิจมาได้เป็นเวลา 20 ปี โลกได้มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ผู้บริโภคให้ความสนใจงานคราฟลดลง บริษัทจึงต้องปรับกลยุทธ์หันมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีความกว้าง และลึกมากขึ้น โดยยึดตามแนวทางของตนเอง ซึ่งชื่นชอบกระดาษ และเป็นคนที่ชอบจด คิด และเขียน ดังนั้น สมุดจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตนเองให้ความสนใจ ด้วยความที่ตนเองเป็นใช้งานสมุดอยู่เป็นประจำในชีวิต และทำสมุดขึ้นมาเพื่อใช้งานเอง ทำให้รู้ว่าสมุดที่ดีจะต้องเป็นอย่างไร
เมื่อเห็นว่าการทำธุรกิจที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 20 ปี บริษัทไม่เคยสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมาอย่างจริงจัง จึงเกิดแนวคิดในการสร้างแบรนด์ โดยมองว่าอะไรที่จะเป็นจุดขายสำคัญขอบริษัท หรือแบรนด์ได้ ดังนั้น จึงเลือกที่จะหยิบจับจุดแข็ง รวมถึงจุดเด่น และประสบการณ์ทั้งหมดมาผสมผสานรวมกันไว้บนผลิตภัณฑ์สมุด ภายใต้แบรนด์ “ZEQUENZ” โดยมีจุดเด่นทางด้านการออกแบบที่มีอัตลักษณ์ ซึ่งบริษัทได้รับรางวัลการออกแบบด้าน Design Excellence ทั้งในและต่างประเทศติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี
นอกจากนี้ยังมีจุดแข็งในเรื่องของแรงงานฝีมือที่มีความชำนาญเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ ZEQUENZ มีมูลค่าเพิ่มในตลาด ด้วยความที่เป็นงานแฮนด์เมดแบบ 100% โดยที่ปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ในประเทศต่างๆ 15 ประเทศ โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
“บริษัทอยู่ในธุรกิจกระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษมาหลายปี จากเดิมที่เป็นตลาดกึ่งของใช้ ของฝาก ของสะสม โดยกลุ่มลูกค้ามีลักษณะค่อนข้างเฉพาะตัว ช่องทางการจำหน่ายในตลาดก็ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจง ดังนั้น เราจึงต้องมองหาตลาดใหม่ที่ไม่ยากจนเกินไปสำหรับการเริ่มต้นใหม่ ขณะเดียวกันการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็จะต้องอยู่ใกล้กับความรู้ และความชำนาญที่มีอยู่ที่สามารถต่อยอดได้”
–สมุดเปิดพับกลับได้ 360 องศา
นลิน บอกต่อไปอีกว่า ตอนที่มีแนวคิดจะทำแบรนด์ โจทย์หนึ่งที่สำคัญก็คือผู้บริโภคในประเทศจะต้องรู้จัก แม้ว่าเราจะมุ่งเน้นที่ตลาดส่งออกก็ตาม โดยบริษัทเลือกที่จะนำเสนอ ZEQUENZ Classic 360 องศา ซึ่งออกแบบมาจากความชอบ และการแก้ปัญหาในการใช้งานสมุด โดยเป็นสมุดที่สามารถเปิดพับกลับได้ 360 องศา มีดีไซน์โค้งมนที่เป็นเอกลักษณ์ ตอบโจทย์การใช้งานแบบไม่สะดุด รวมถึงมีการเข้าเล่มด้วยมือโดยใช้กาวพิเศษสูตรเฉพาะของบริษัท ซึ่งผู้ใช้งานจะสามารถเขียนได้ทั้ง 2 มือ ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล ขณะที่รูปทรงก็มีอัตลักษณ์ด้วยความเป็นเล่มหนา สันโค้ง มุมมน โดดเด่นด้วยสีที่เป็น signature ดำและแดง
“ทุกอย่างที่เป็น ZEQUENZ มีการออกแบบมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่รูปทรง ฟังก์ชั่นการใช้งานที่เป็นอัตลักษณ์ สามารถตอบสนองการใช้งานได้จริง ทำให้ได้รับการยอมรับ และสร้างภาพจำให้กับผู้บริโภค”
ZEQUENZ จะมีการแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็นกลุ่ม และมีบุคลิกเฉพาะใน 3 กลุ่มหลัก ประกอบไปด้วย Stationeries, Accessories และ Well Being ในระยะต่อไป โดยปัจจุบัน ZEQUENZ กำลังจะครบรอบ 10 ปีที่ทำตลาดมา
–มุ่งช่องทางออนไลน์ทั้งในและ ตปท.
สำหรับช่องทางในการทำตลาดของ ZEQUENZ ในปัจจุบันนั้น หากเป็นในประเทศจะมีจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าตามร้านขายสมุด และหนังสือชั้นนำ แต่เราจะค่อนข้างเลือกร้านที่วางจำหน่าย เพราะสมุด ZEQUENZ มีราคาที่ค่อนข้างสูง เพราะเป็นงานแฮนด์เมดทั้งเล่ม 16 ขั้นตอน โดยมีฐานของลูกค้าอยู่พอสมควรในกลุ่มของดีไซเนอร์ วิศวกร ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ชื่นชอบความเรียบง่าย แต่ในความเรียบง่ายของเราจะเป็นแบบที่น้อยแต่มาก เป็นความน้อยที่ผ่านกระบวนการทางความคิดมาเป็นอย่างดี เพื่อให้หน้าตาของสมุดดูดี ใช้งานได้ดีที่สุด และสวยที่สุด
ขณะที่ช่องทางต่างประเทศล่าสุดมีจำหน่ายแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่จำหน่ายได้มากที่สุด มีช็อปที่จำหน่ายกว่า 300 จุด รวมถึงมีที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
ส่วนกลยุทธ์การทำตลาดในปีนี้จะมุ่งเน้นการเพิ่มช่องทางออนไลน์ทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อขยายฐานลูกค้า และเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยในประเทศจะมีเว็บไซด์ของบริษัท และล่าสุดเว็บไซด์ไทยเทรดดอคอม (thaitread.com) และยังมีกระทรวงอุตสาหกรรมที่นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปประชาสัมพันธ์ให้ นอกจากนี้ยังมีเว็บไซด์ขายของออนไลน์ที่มองว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทตอบโจทย์ติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย
อย่างไรก็ตาม การทำตลาดในประเทศ บริษัทยังมีรูปแบบ B2B ซึ่งเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับองค์กร เพื่อนำไปมอบให้กับลูกค้า โดยสิ่งที่ภาคภูมิใจก็คือ องค์กรเหล่านั้นจะยินดีติดแบรนด์ ZEQUENZ เพื่อมอบให้กับลูกค้าด้วย
ด้านต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นก็จะมีแพลตฟอร์มที่ผู้จำหน่ายทำไว้ให้ ขณะที่สหรัฐฯก็จะมีผ่านเว็บไซด์อเมซอน (AmaZon.com) และล่าสุดเว็บ E-Commerce จากประเทศสิงคโปร์ที่ติดต่อเข้ามาเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย อย่างไรก็ดี บริษัทเตรียมที่จะขยายตลาดไปสู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และยาก แต่บริษัทจะพยายามดำเนินการให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมให้ได้
“มีการติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่องเพื่อขอนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย แต่บริษัทค่อนข้างเลือก เพราะไม่ต้องการไปอยู่บนตลาดที่แมสจนเกินไป เนื่องจากเราเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีสไตล์ เรียกว่าเราขายไลฟ์สไตล์ไม่ใช่แค่สมุด ซึ่งต้องมี Value Proposition ให้ลูกค้าทั้งในด้าน Function Benefit และ Emotional Benefit”
นลิน ปิดท้ายว่า หลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของบริษัท อยู่ที่ความจริงใจต่อลูกค้า รวมถึงเรื่องของคุณภาพ และการต่อยอดผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จะต้องสอดรับกับกระแสความต้องการของโลกด้วย เช่น ยุคปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม บริษัทก็จะมีวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการนำสิ่งดังกล่าวมาไว้บนผลิตภัณฑ์.