“อัยยะ”นวัตกรรมเงาะอบแห้งจากผลไม้ท้องถิ่น
เงาะโรงเรียนนาสารเป็นผลไม้ประจำท้องถิ่นของอำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และดีที่สุดในโลก ที่สำคัญกำลังจะได้รับการรับรองให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีการปลูกเงาะกันเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งจากการรับรองดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเงาะนาสารได้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกเงาะได้มีแต้มต่อในการจำหน่าย
“รัตนาพร บันเทิงจิตร” หญิงสาวผู้อยู่ในครอบครัวที่ปลูกเงาะโรงเรียนนาสารมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ จนมาถึงรุ่นที่ตัวเธอเข้ามาบริหาร เธอได้เลือกหยิบจับผลไม้ประจำท้องถิ่นอย่างเงาะโรงเรียนนาสารมาใส่ไอเดียด้วยการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า และขยายช่องทางในการจำหน่าย จนปัจจุบันสามารถ Startup ธุรกิจเงาะนาสารแปรรูปแบบอบแห้งภายใต้แบรนด์ “อัยยะ” (I Yha) ขึ้นมาได้ในที่สุด
-จากธุรกิจครอบครัวสู่ผลไม้แปรรูป
รัตนาพร ในฐานะกรรมการผู้จัด บริษัท นาสารฟู้ด โปรดักซ์ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการทำธุรกิจว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัวของเธอที่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกเงาะโรงเรียนนาสารมาตั้งแค่รุ่นคุณปู่ หรือประมาณ 62 ปีที่ผ่านมา โดยที่ตัวเธอเองเป็นรุ่นที่ 3 แล้วในการเข้ามาบริหาร แต่กว่าจะมาเป็นเงาะอบแห้งแบรนด์ “อัยยะ” นั้น เดิมทีเธอเคยแปรรูปเงาะโรงเรียนนาสารมาแล้วในรูปแบบของการกวน หรือที่เรียกว่า “เงาะกวน” ซึ่งการทำตลาดยังไม่สามารถทำได้กว้างมากมายเท่าใดนัก
อย่างไรก็ดี เมื่อทำมาได้สักระยะหนึ่งมีโอกาสได้รับเทคโนโลยีจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ เพื่อแปรรูปเงาะให้ออกมาในรูปแบบของ “อบแห้ง” โดยเป็นนวัตกรรมซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่มีมานานแต่ยังไม่ได้ถูดกนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์จริง และทางสถาบันฯก็ได้มีนโยบายในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตร ซึ่งเธอเองถือว่าโชคดีที่มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดจนสามารถแปรรูปเงาะโรงเรียนนาสารอบแห้ง เพื่อจำหน่ายและสามารถก่อตั้งบริษัทขึ้นได้ในปี 2553 โดยถือเป็นเจ้าแรก และเจ้าเดียวในตลาดที่แปรรูปเงาะโรงเรียนนาสารในรูปแบบดังกล่าว เพราะส่วนใหญ่จะจำหน่ายในรูปแบบของผลไม้สดกันหมด
จากการที่เธอแปรรูปเงาะโรงเรียนนาสารให้กลายเป็นเงาะแบบอบแห้ง ทำให้แบรนด์อัยยะมีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นในท้องตลาด เพราะเป็นเจ้าแรกที่ทำ เมื่อผสมผสานเข้ากับรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของเงาะโรงเรียนนาสารก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภคสนใจ ส่งผลให้ตลาดเติบโตขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง
-เล็งแตกไลน์ผลิตภัณฑ์
รัตนาพร บอกต่อไปอีกว่า ปัจจุบันเงาะอบแห้งแบรนด์ “อัยยะ” มีช่องทางการจำหน่ายที่ท็อปมาร์เก็ต (Tops Market) ในรูปแบบพรีเมี่ยม และร้านกูร์เมต์ (Gourmet Market) ในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ปทุกสาขา อีกทั้งยังมีจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และส่งออกไปในหลายประเทศ จากการที่มีผู้ซื้อ (Buyer) มารับผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ เช่น จีน, ออสเตรเลีย, ญี่ป่น, เกาหลี และลาว เป็นต้น แต่ก็ยังมีปริมาณไม่มาก
ส่วนการขยายตลาดในปีนี้นั้น กลยุทธ์หลักของบริษัทจะเป็นการเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือก และขยายกลุ่มลูกค้าในตลาด โดยจะเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของชาผลไม้ ไม่ว่าจะเป็น เงาะ, ลิ้นจี่, มะม่วง, มะพร้าว, กล้วย และสับปะรด เป็นต้น นอกจากนี้ ก็จะมีผลิตภัณฑ์ผลไม้แบบอบแห้งสูตรแบบไม่มีน้ำตาล ซึ่งจะประกอบไปด้วย เงาะ, มะม่วง, และกล้วย โดยทั้งหมดจะเป็นผลไม้เด่นๆที่ได้รับความนิยม และมีในตลาดกลางผลไม้ในพื้นที่ ซึ่งจะออกตามฤดูกาล จะมีเพียงเงาะเท่านั้นที่จะมีให้รับประทานทั้งปี เพราะบริษัทมีห้องเย็นที่สามารถเก็บสต็อกเงาะเอาไว้ได้
“ช่องทางในการทำตลาดก็จะนำเข้าไปวางจำหน่ายที่ช่องทางจำหน่ายเดิมที่แบรนด์อัยยะทำตลาดอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทได้มีการเจรจาทางการค้าเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมะม่วงอบแห้งแบบไม่มีน้ำตาลได้ทดลองทำตลาดไปเรียบร้อยแล้วที่กูร์เมต์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมากจากผู้บริโภค ซึ่งลูกค้าหลักของแบรนด์จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทย เนื่องจากผู้บริโภคคนไทยจะนิยมรับประทานแบบผลไม้สดมากกว่า เพราะหาซื้อมารับประทานได้ง่าย”
-สร้างความต่างดึงดูดผู้บริโภค
รัตนาพร บอกอีกว่า ด้วยกลยุทธ์ในการทำตลาดของบริษัทในรูปแบบดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทขยายตัวได้ประมาณ 10% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาท โดยการเติบโตอาจจะไม่มาก เนื่องจากส่วนหนึ่งบริษัทต้องมีการลงทุนในส่วนของเครื่องจักรเป็นจำนวนมาก เพื่อขยายไลน์ในการผลิต ซึ่งบริษัทมองว่ามีตลาดที่รองรับผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น เธอมองว่าเมื่อตัวเธอเป็นมดก็ต้องสู้ในแบบมด สู้โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ในตลาดยังไม่มีจำหน่าย พร้อมกับดึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค เช่น เงาะอบแห้ง บริษัทของเธอก็เป็นเจ้าแรกที่จำหน่าย เช่นเดียวกับผลไม้อบแห้งสูตรแบบไม่มีน้ำตาลที่เป็นเจ้าแรก ซึ่งช่วยสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายอยู่ในตลาดได้
“การที่บริษัทมีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ให้ออกมาอย่างหลากหลายก็เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ เผื่อว่าวันหนึ่งวันใดบางผลิตภัณฑ์อาจจะไม่ได้รับความนิยม หรือหายไปจากตลาดก็จะได้มีผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นมาทดแทนได้”
ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนช่วยในการสนับสนุนธุรกิจด้วยการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินจากสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษตามโครงการสินเชื่อประชารัฐ รวมถึงการพาไปออกงานแสดงสินค้า ซึ่งช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศอีกด้วย.