ยอดขายร้านค้าชุมชน“ชิมช้อปใช้”พุ่ง 30-100%
“ชิมช้อปใช้” เฟส 2 วันแรก “ปิดรับ” ช่วงเช้า หบังเต็มยอด 5 แสนคนเร็วเหมือนเดิม ด้าน “อุตตม” ขอเช็คผลการทำงานมาตรการ ย้ำ 3 ล้านคนรอบนี้เหมาะสมแล้ว ขณะที่ “ผช.รมต.คลัง” เผย ยอดขายร้านค้าชุมชนขยับเพิ่ม 30-100% ยันมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ส่วน “โฆษกคลัง” ระบุ สัดส่วนยอดขายร้านค้าย่อยกับโมเดิร์นเทรด “82 : 18” เหมาะกับกับทุกฝ่ายแล้ว
การเปิดรับลงทะเบียนตามมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 ในวันแรก เริ่มขึ้นเมื่อช่วงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจเข้าลงทะเบียนและเต็มจำนวน 500,000 คนในช่วงเช้าฯ เมื่อเวลา 07.18 น.โดยจะเปิดรับลงทะเบียนอีกครั้งของวันนี้ในช่วงเวลา 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาลงทะเบียนใหม่ภายหลังการปรับเปลี่ยนจากเฟสแรก
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า จำนวนที่เปิดรับผู้สมัครลงทะเบียนจำนวน 3 ล้านคนในเฟส 2 ถือเป็นความเหมาะสมและสอดรับกับสถานการณ์ในขณะนี้แล้ว ทั้งนี้ คงต้องรอให้มาตรการฯที่เพิ่งมีการริเริ่มได้ทำงานไปสักระยะ เพื่อประเมินถึงความสำเร็จของมาตรการฯ ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่ามาตรการ “ชิมช้อปใช้” จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและร้านค้าในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหลังจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดึงเอาร้านค้ารายย่อยในเครือข่ายรวมกันกว่า 2 แสนรายมาเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ กก.ผช.รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี (ผช.รมต.คลัง) กล่าวว่า เท่าที่ตนลงพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ไม่พบปัญหาหรือข้อร้องเรียนใดๆ นอกจากสิ่งที่ผู้ประกอบการรายย่อยและร้านค้าชุมชนต้องการให้มีการเปิดกว้างรับร้านค้าเพิ่มเติม การเพิ่มแรงจูงใจในการใช้จ่าย และเพิ่มเฟส 2 ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้ หลังจากมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ได้เริ่มทำงาน พบว่าผู้ประกอบการรายย่อยและร้านค้าชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปกติถึง 30% โดยเฉพาะที่ จ.นครราชสีมา พบว่ามียอดขายสูงถึง 1 เท่าตัวมีเดียว โดยเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนต่างๆ ได้ดีขึ้น
ด้าน ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวโน้มความสำเร็จของเฟส 2 น่าจะมีมากขึ้น หลังการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเพิ่มแรงจูงใจ โดยเฉพาะการเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการโรงแรม, รถเช่า, บริษัททัวร์ และธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว ที่มีสาขาและเครือข่ายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมมาตรการได้ทันที โดยไม่ปิดกั้นเหมือนในเฟสแรก ขณะที่ร้านค้าโมเดิร์นเทรดยังคงใช้เงื่อนไขเดิม เนื่องจากเป้าหมายเดิมของมาตรการคือ ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและร้านค้าชุมชนได้มีโอกาสจากมาตรการนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่า สัดส่วนการใช้จ่ายระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยและร้านค้าชุมชน กับร้านค้าโมเดิร์นเทรด อยู่ที่ 82 : 18 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ค้าและประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
สำหรับการใช้จ่ายในเฟสแรกนั้น ตอนนี้มีผู้ได้รับสิทธิ์และใช้จ่ายเงินรวมกันราว 9.3 ล้านคน มียอดการใช้จ่ายในกระเป๋า 1 กว่า 9,000 ล้านบาท ขณะที่การใช้จ่ายในกระเป๋า 2 ยังคงอยู่ที่ระดับ 200 ล้านบาท ทั้งนี้ เชื่อว่า ภายหลังการปิดรับสมัครลงทะเบียนในเฟส 2 จำนวน 3,000 คน ซึ่งจะได้กลุ่มคนทำงานที่มีแนวโน้มจะใช้กระเป๋า 2 รวมกับแรงจูงใจที่ปรับเพิ่มสิทธิ์รับเงินคืน 20% และการขยายเวลาไปจนถึง 31 ธ.ค.62 ทั้งในกลุ่มเฟสแรกและเฟส 2 น่าที่จะทำให้ภาพรวมการใช้จ่ายในกระเป๋า 2 เพิ่มมากกว่ากว่าช่วงที่ผ่านมา.