“เอิบอิ่ม” ผลิตภัณฑ์เห็ดและพริกแปรรูป
ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องของเกษตรกรรม ทุกภูมิภาคมีการปลูกพืชเศรษฐกิจประจำท้องถิ่นที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ แต่ในยุคปัจจุบันผลผลิตบางประเภทอาจมีล้นเกินความต้องการ ส่งผลให้ราคาจำหน่ายไม่ได้ผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ นวัตกรรมทางด้านการแปรรูปถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยม และสามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลิตผลเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี แบรนด์ “เอิบอิ่ม” ภายใต้การนำทัพของ “อุทัย รุ่งคำ” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เลือก Start up ธุรกิจด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดขอน และสามารถต่อยอดไปสู่การแปรรูปพริกเพิ่มเติมในปัจจุบัน
จากฟาร์มเห็ดสู่การแปรรูป
อุทัย ในฐานะ กรรมการ บริษัท เอิบอิ่ม จำกัด บอกถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียในการทำธุรกิจภายใต้แบรนด์ “เอิบอิ่ม” ว่า เดิมทีครอบครัวของตนเองทำฟาร์มเห็ดมากว่า 10 ปี โดยเห็ดที่เพาะมีชื่อว่า เห็ดขอน เพราะเป็นเห็ดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นเห็ดที่มีราคาค่อนข้างสูงกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งนิยมปลูกกันมากบนพื้นที่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเห็ดดังกล่าวชอบสภาพอากาศร้อนชื้น
อย่างไรก็ดี เมื่อช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ที่ผลผลิตเห็ดขอนล้นตลาด จนทำให้ราคาจำหน่ายถูกปรับลดลงอย่างมาก ตนจึงมีแนวคิดในการนำการนำเห็ดขอนมาแปรรูปเป็นเห็ดปรุงรส 100% จำหน่ายในรูปแบบของสแน็กมีทั้งเป็นกระปุก และเป็นซองเช่นเดียวกับสแน็กทั่วไป โดยได้รับความนิม และการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผลิตภัรฑ์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่แบรนด์ทำการแปรรูปคือพริก โดยนำมาทำเป็นพริกกรอบคล้ายคลึงกับการทำเห็ดปรุงรส คือ การนำพริกแกะเอาเมล็ดออกบางส่วน และนำไปทอด และมาผ่านกระบวนการไล่น้ำมันออก ทำให้ไม่ให้เลอะมือ เหมือนกับพริกกรอบจากประเทศจีน ซึ่งการทำพริกกรอบในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งต่อยอดเห็ดปรุงรสให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยมีการนำเห็ดมาผสมอยู่ในพริกอบกรอบ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก สำหรับพริกกรอบผสมเห็ด และพริกกรอบรสต้มยำ เพราะมีส่วนผสมของตะไคร้ ใบมะกรูด เจาะกลุ่มคนรักษ์สุขภาพ ที่ต้องการสแน็กที่ดีต่อสุขภาพ เพราะส่วนผสมในพริกกรอบทุกตัวดีต่อสุขภาพ และไล่น้ำมัน กินได้โดยไม่ต้องห่วงว่าจะได้รับไขมันมากเกินไป ปัจจุบัน ลูกค้ากลุ่มสาวๆมองหาอาหารลดน้ำหนัก หันมารับประทานพริกกรอบกันมาก เพราะจากผลวิจัยที่บอกว่า พริกช่วยลดน้ำหนักได้ เป็นต้น
“พริกที่แบรนด์เอิบอิ่มนำมาใช้ทำพริกอบกรอบครั้งนี้ จะเลือกใช้พริกขี้หนูแห้ง โดยเลือกพริกเม็ดใหญ่ ซึ่งต้องนำมาแกะเมล็ดออก ก่อนนำไปทอด โดยวันหนึ่งต้องใช้พริกไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม พริกสั่งซื้อจากพ่อค้าในตลาด ที่ทำส่งขายทั่วไปอยู่แล้ว ส่วนเห็ดขอน เห็ดนางฟ้า ปัจจุบันใช้ วันละ 200-300 กิโลกรัม มาจากเห็ดที่เพาะเอง 30% ที่เหลือรับซื้อจากเกษตรกร ที่จังหวัดศรีสะเกษ”
เน้นกลยุทธ์ OEM
อุทัย บอกต่อไปว่า กลยุทธ์การทำตลาดของแบรน์ในระยะต่อไปนั้น จะมุ่งเน้นการรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้นำผลิตภัณฑ์ไปทำตลาดในต่างประเทศเป็นหลัก โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์พริกกรอบได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งล่าสุดได้มีคู่ค้าเข้ามาติดต่อเพื่อขอให้ผลิตไปจำหน่ายแล้วที่สหรัฐอเมริกา ,กัมพูชา ,จีน และอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพริกรอบของแบรน์มี 3 รูปแบบ ได้แก่ พริกกรอบรสชาติต้นตำหรับ ,พริกกรอบรสต้มยำมีใบมะกรูดและพริกกรอบผสมเห็ดกรอบรสต้มยำ โดยบริษัทมีความชำนาญในการผลิตมากกว่าการทำตลาด ดังนั้น จึงเลือกใช้กลยุทธ์การทำ OEM เพื่อเพิ่มรายได้
ขณะที่ในส่วนของการจำหน่ายผ่านแบรนด์ เอิบอิ่ม นั้น แบรนด์จะดำเนินการพัฒนาการเข้าทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม อีกทั้งยังมีต้นทุนที่ไม่สูงมาก แต่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผ่านทางเว็บไซด์ ,เพจเฟซบุ๊ก ,อินสตราแกรม (IG) และไลน์แอด (Line@) รวมถึงการเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด จากเดิมที่มีจำหน่ายผ่านบิ๊กซี ,ท็อปมาร์เก็ต (Tops market) ,ร้านดอยคำ และเถ้าแก่น้อยแลนด์ (Taokaenoi Land)
“ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์เอิบอิ่มประกอบด้วย เห็ดทอดปรุงรส ขนมเห็ดอบ และพริกกรอบรสชาติต่างๆทั้งหมด”
เจ้าเดียวในไทย
อุทัย บอกต่อไปอีกว่า ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากการจำหน่ายแบบ OEM ประมาณ 80% และจำหน่ายภายใต้แบรนด์เอิบอิ่มประมาณ 20% โดยจากกลยุทธ์ในการทำตลาดตามแผนการตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นประมาณ 30% ในปีนี้ และจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามกลยุทธ์การทำตลาดแบบเป็นขั้นตอนของบริษัทในปีถัดไป
สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตอยู่ที่ ความเชี่ยวชาญทางด้านการเพาะเห็ดเพื่อนำมาแปรรูป โดยเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทยที่นำเห็ดขอนมาใช้ในการแปรรูปทั้งดอก รวมถึงเรื่องของรสชาติที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของแบรนด์
“เรามีความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตมากกว่าการทำตลาด ดังนั้น จึงเน้นการสร้างรายได้โดยการ OEM เพื่อให้ผู้ประกอบการายอื่นไปจำหน่ายต่อที่ต่างประเทศเป็นหลัก”