ชี้รายได้ยาสูบหาย 600 ล.หลังลดภาษีอุ้มเกษตรกร
สรรพสามิตคาดรายได้ภาษียาสูบปี 63 หดลง 600 ล้านบาท หลังหั่นภาษี “อุ้ม” เกษตรกรยาสูบ “ผู้เพาะปลูก-ผลิตยาเส้น”
นายณัฐกร อุเทนสุต ผด.สำนักแผนภาษี และรองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราภาษียาเส้น กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตจึงเสนอให้มีการพิจารณาปรับลดอัตรายาเส้น จากอัตราเดิม 0.005 บาท/กรัม เป็นอัตรา 0.10 บาท/กรัม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.ลดอัตราภาษีตามปริมาณสำหรับเกษตรกรผู้เพาะปลูก หั่นและจำหน่ายและผู้ผลิตรายย่อยที่มีปริมาณการผลิตเฉลี่ยไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี ให้เสียภาษีในอัตรา 0.025 บาทต่อกรัม สำหรับจำนวนยาเส้นที่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี ให้เสียภาษีในอัตรา 0.10 บาท ต่อกรัม ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวกำหนดให้มีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค.63 โดยหากพ้นกำหนดในช่วงเวลาดังกล่าวต้องเสียภาษีในอัตรา 0.10 บาทต่อกรัม
โดยจากฐานข้อมูลการชำระภาษียาเส้น ปีงบประมาณ 62 พบว่า จากผู้ผลิตยาเส้นที่เป็นเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย ที่ผลิตได้เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี เพียง 15 ราย จากทั้งหมด 10,450 ราย โดยทั้ง 15 รายเป็นผู้ผลิตที่อยู่ใน จ.หนองคาย เพชรบูรณ์ และชัยภูมิ ซึ่งการลดอัตราภาษีสำหรับกรณีดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกและผลิตยาเส้น รวมถึงผู้ผลิตยาเส้นรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าว ให้สามารถปรับตัวรองรับกับนโยบายของรัฐบาลด้านสาธารณสุขในการลดการบริโภคยาสูบและยาเส้นในอนาคต
2.ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม โดยปรับแก้ไขการได้รับสิทธิเสียภาษีในอัตรา 0 ให้รวมถึงผู้ค้าคนกลางเพื่อขายเป็นวัตถุดิบให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ
3.กรมสรรพสามิตได้มีการประกาศเรื่อง ขยายกำหนดเวลาในการทำบัญชีและงบเดือนและการยื่นงบเดือนแก่ผู้ประกอบการยาสูบประเภทยาเส้นที่ปลูกและหั่นเอง เพื่อขายเป็นวัตถุดิบให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบซึ่งเสียภาษีในอัตราศูนย์ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระของเกษตรกรและเน้นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรรายย่อย
”เหตุผลที่มีการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากกรมอยากจะช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 10,000 ราย ไม่ให้เดือดร้อนจากภาษี และผู้ผลิตยาเส้นที่เป็นเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยผลิตได้เกิน 12,000 กก.ต่อปี จำนวน 15 ราย จากทั้งหมด 10,450 ราย จากเดิมภาษียาเส้นปรับจาก 0.005 บาทต่อกรัม เป็นอัตรา 0.10 บาทต่อกรัม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า” รองโฆษกกรมสรรพสามิตกล่าว
สำหรับราคายาเส้นนั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายอาจปรับราคาเพิ่มขึ้น จากเดิมยาเส้นซองละ 10 กรัม ราคา 10 บาท เป็น 11-12 บาทต่อซอง ขณะที่ยาเส้นซองละ 50 กรัม ผู้ประกอบการอาจปรับขนาดซองให้เล็กลงเหลือ 30 กรัม เพื่อให้ราคาไม่สูงมากและสามารถนำจำหน่ายให้กับประชาชนได้ ส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษียาเส้นหลังจากปรับอัตราใหม่ในปี 63 นั้น รองโฆษกกรมสรรพสามิตคาดว่า น่าจะจัดเก็บลดลง 600 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 2,000 ล้านบาท เหลือเพียง 1,400 ล้านบาทต่อปี.