สนามการค้าจีนเปิดกว้างรับต่างชาติ
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงของจีนกล่าวให้คำมั่นต่อหน้าบรรดาผู้นำธุรกิจทั่วโลกและผู้แทนรัฐบาลว่า จีนจะผลักดันให้มีการสร้างสรรค์สนามการค้าที่เท่าเทียมกันในประเทศจีนเพื่อทุกบริษัท
เนื่องจากผู้แทนเจรจาของสหรัฐฯและจีนเริ่มกลับมาเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้าใหม่ ทำให้ประเด็นที่บริษัทอเมริกันในจีนไม่พอใจการเลือกปฏิบัติของจีนที่มีกับบริษัทต่างชาติกลายมาเป็นหัวข้อหลักของกรณีพิพาท อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามสำคัญถึงขอบเขตที่ผู้นำของจีนจะทำตามสัญญาในด้านเสรีภาพทางเศรษฐกิจ
“ เราต้องการให้กิจการรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน และบริษัทที่มีนักลงทุนต่างชาติ ตราบเท่าที่พวกเขาจดทะเบียนในจีน ถูกจัดว่าเป็นบริษัทจีน และทั้งหมดจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ” นายกฯหลี่เค่อเฉียงกล่าวในการประชุม World Economic Forum ในต้าเหลียน ประเทศจีน
โดยนายกฯหลี่ได้ยกตัวอย่างแผนการของจีนในการลดภาษีและค่าใช้จ่ายที่จะมีผลกับกิจการทั้ง 3 ประเภทให้เกือบ 2 ล้านล้านหยวน (9.87 ล้านล้านบาท) ในปีนี้
แม้จะอ้างถึง “การปฏิรูปและเปิดกว้าง” กว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่จีนยังกำหนดให้บริษัทต่างชาติร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนจีน และบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อดำเนินการในประเทศ โดยบริษัทเอกชนของจีนเอง ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการจ้างงานและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ก็บ่นถึงการเข้าถึงแหล่งการเงินที่ไม่เท่าเทียมกับรัฐวิสาหกิจ
“ ประชาคมธุรกิจต้องการความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับจีน” ชาร์ลส ฟรีแมน รองประธานอาวุโสประจำเอเชียของหอการค้าสหรัฐฯ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ CNBC เมื่อวันที่ 1 ก.ค. “เราคิดว่าความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่ดีเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่มั่นคง โดยรวมแล้ว ( อ้างถึงการพักรบการค้าชั่วคราวเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.) ก็รู้สึกดีขึ้น ขาดรายละเอียดนิดหน่อย แต่เราชอบแนวโน้มเช่นนี้”
ในการแถลงเมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายกฯหลี่ระบุถึงหลายมาตรการที่เขาอ้างว่าจีนกำลังเปิดกว้าง หรือมีแผนจะเปิดกว้างทางเศรษฐกิจให้ต่างชาติมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยรวมถึง
– การยกเลิกกฎระเบียบการเป็นเจ้าของจากต่างชาติในตราสารหนี้ ,สัญญาซื้อขายสินค้าอ้างอิง และบริษัทประกันชีวิตในปี 2563 ซึ่งเร็วกว่าที่วางแผนไว้หนึ่งปี
– เปิดกว้างภาคการผลิตให้ทุนต่างชาติรายใหญ่ รวมถึงผ่อนปรนสัดส่วนของผู้ถือหุ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์
– ค่อยๆ ลดอุตสาหกรรมที่หวงห้ามสำหรับทุนต่างชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนี้ หลี่ยังระบุว่า บริษัททุนต่างชาติที่จดทะเบียนในจีนยังสามารถได้ประโยชน์ จากมาตรการรัฐที่สนับสนุนนวัตกรรมในประเทศด้วย หากบรรดาธุรกิจพบว่าพวกเขาไม่สามารถได้เปรียบจากนโยบายเหล่านั้น บริษัทสามารถยื่นคำร้องเรียนได้
ในด้านนโยบายเศรษฐกิจ หลี่ระบุว่า จีนจะไม่ลดค่าเงินหยวน หรือออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก ซึ่งทั้งสองนโยบายเป็นสิ่งที่ตลาดกังวล.