สงครามการค้าเปลี่ยนเป็นสงครามเทคโนโลยี
บล.ไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง Tech war คือสงครามที่แท้จริง
ผ่านไป 1 ปีแล้วกับความพยายามของสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี และในที่สุด สหรัฐฯ ก็ทำได้สำเร็จขั้นแรก ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีนในแง่การส่งออกและการลงทุน เมื่อรวมกับความอ่อนแอของเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้สินสูง และภาวะฟองสบู่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจจีนจึงเผชิญกับความเสี่ยงที่จะดิ่งลงอย่างรุนแรง หรือ hard landing ทำให้รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินสูงถึง 6.3 ล้านล้านหยวน
ในมุมมองของรัฐบาลสหรัฐฯ การใช้ภาษีนำเข้าเป็นอาวุธก็เหมือนกับการ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” เพราะจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถกดดันจีนในแง่ของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี อีกทั้งยังทำให้มีรายได้จากภาษีนำเข้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพ.ค. จีนได้แก้เกมโดยปรับเปลี่ยนข้อตกลงบางประการที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นข้อพิพาทหลักๆ กับสหรัฐ เช่น การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้า การบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี นโยบายการแข่งขัน และการเข้าถึงบริการทางการเงิน ทำให้สหรัฐฯ จึงตอบโต้ด้วยแผนการขั้นต่อไป ด้วยการเริ่มทำสงครามด้านเทคโนโลยี โดยเน้นไปที่การคว่ำบาตรหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่สุดของจีน และผู้ให้บริการ 5G ชั้นนำของโลก
เราเชื่อว่าหลังจากสงครามการค้าแปรเปลี่ยนมาเป็นสงครามด้านเทคโนโลยี ในขณะที่จีนก็เปลี่ยนกลยุทธ์โดยหันมาปลุกกระแสชาตินิยม ทำให้มีแนวโน้มสูงมากที่สหรัฐฯ จะคงเก็บอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไว้ที่ 25% หลังจากผู้นำของทั้งสองประเทศพบกันนอกรอบการประชุม G-20 ที่จะมีขึ้นตอนปลายเดือนมิ.ย.นี้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม เรายังคงเชื่อว่าในที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายจะยอมลดภาษีนำเข้าลง ในขณะที่สหรัฐฯ อาจจะระงับการคว่ำบาตรหัวเว่ยเป็นการชั่วคราวเหมือนกับที่เคยทำกับกรณี ZTE ในปีที่ผ่านมา กระนั้นก็ตาม เราเชื่อว่าสหรัฐฯ จะใช้การขู่คว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีของจีนในเวลาใดก็ได้เพื่องัดข้อกับจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อแนวโน้มของกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลกในระยะต่อไป
สหรัฐฯ เริ่มทำสงครามการค้าระลอกถัดไปกับจีนโดยสั่งคว่ำบาตร “หัวเว่ย” ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่สุดของจีน และผู้ให้บริการ 5G ชั้นนำของโลก เราเชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องการใช้การคว่ำบาตรครั้งนี้มางัดข้อกับจีนเพื่อให้สงครามการค้ายุติอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการที่จะควบคุมหัวเว่ยในระยะยาวด้วย
ในขณะเดียวกันจีนก็ใช้กระแสข่าวเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้ เช่น ขู่ว่าจะคว่ำบาตรการส่งออกแร่ธาตุหายาก (Rare earth) รวมถึงปลุกกระแสชาตินิยม โดยจีนหวังว่าจะส่งผลทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และเทขายสินทรัพย์ทางการเงินในสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผลตอบแทนตลาดหุ้นจีนยังคงต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ปัจจุบันเราเชื่อว่าการที่สงครามการค้าแปรเปลี่ยนมาเป็นสงครามด้านเทคโนโลยี ในขณะที่จีนก็หันมาปลุกกระแสชาตินิยม ทำให้มีโอกาสสูงมากที่สหรัฐฯ จะยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจีนไว้ที่ระดับ 25% หลังการประชุม G-20 ที่จะมีขึ้นตอนปลายเดือนมิ.ย. ทั้งนี้เป็นเพราะทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนที่แตกต่างกันมาก อย่างไรก็ตาม เรายังคงเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะลดภาษีนำเข้าลงในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า และสหรัฐฯ อาจจะระงับการคว่ำบาตรหัวเว่ยเป็นการชั่วคราวเหมือนกับที่เคยทำกับกรณี ZTE ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว เราเชื่อว่าสหรัฐฯ จะใช้การขู่คว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีของจีนเพื่องัดข้อกับจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อแนวโน้มของกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลกในระยะกลาง