ตามหาหมาปักกิ่งในปีจอ
หลังจากจีนเกิดการปฏิวัติและเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม สุนัขสายพันธ์ุของจีนที่มีชื่อเรียกตามชื่อเมืองหลวงคือปักกิ่ง ซึ่งแต่ก่อนถูกเลี้ยงอยู่ในพระราชวังก็กลายเป็นที่แพร่หลาย และในช่วงยี่สิบกว่าปีก่อน เป็นเรื่องปกติที่ในปักกิ่งจะเต็มไปด้วยสุนัขพันธุ์ปักกิ่งที่หลงทางร่อนเร่ไปตามท้องถนน
อย่างไรก็ตาม หลังเริ่มต้นปีจอตามปีนักษัตรในเดือนก.พ.นี้ จึงมีการสำรวจพบว่า สุนัขสายพันธุ์ปักกิ่งแท้ของจีนเกือบจะไม่มีหลงเหลือให้เห็นโดยทั่วไปเลย เจ้าของสุนัขในจีนทุกวันนี้ ชอบที่จะเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ต่างประเทศมากกว่า เช่น พุดเดิลและชิวาวา
“ ตอนนี้มีสุนัขพันธุ์ปักกิ่งเหลืออยู่น้อยมาก ” จางเล่ย ผู้เพาะเลี้ยงสุนัขรายหนึ่งในกรุงปักกิ่งกล่าว
“ หากคุณต้องการสุนัขพันธุ์ปักกิ่งของจีนสักตัว คุณมีทางเลือกแค่ผสมข้ามสายพันธุ์พวกมันกับสายพันธุ์ปักกิ่งของต่างประเทศเท่านั้น หลายคนไม่มีพวกมันแล้ว ผมคิดว่าสุนัขพันธุ์ปักกิ่งในจีนกำลังประสบกับภาวะวิกฤต ”
ในปี 2546 จางรับเลี้ยงสุนัขจรจัดพันธุ์ปักกิ่ง 2-3 ตัว และหลังจากนั้น เขาก็เริ่มผสมและเพาะพันธุ์พวกมัน โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นงานอดิเรก บางส่วนก็เอาไว้ขายบ้าง โดยมีราคาตั้งแต่ 1,000-2,500 หยวน หรือราว 5,070- 12,675 บาท แต่เขากล่าวว่ามีผู้ซื้อค่อนข้างน้อย
มีการนำสุนัขพันธุ์ปักกิ่งเข้าไปยุโรปเมื่อกองทัพชาติตะวันตกบุกพระราชวังฤดูร้อนในกรุงปักกิ่งและขโมยสุนัขกลับไปจำนวนมากในระหว่างสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ในช่วงทศวรรษปี 1850 สุนัขพันธฺุ์ปักกิ่งถูกชาติตะวันตกมองว่าเป็นสุนัขที่ดูหรูหราและแปลกตา และชื่นชอบที่จะเอาไปเป็นสุนัขโชว์
ถึงแม้สุนัขพันธุ์ปักกิ่งสายพันธุ์พื้นบ้านในประเทศกำลังหายไปเรื่อยๆ เจ้าของสุนัขชาวจีนหลายคนกลับซื้อสุนัขพันธุ์ปักกิ่งขนยาวที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะมีความเชื่อว่ามีสายพันธุ์ที่บริสุทธิ์กว่า
“ พวกมันเป็นสุนัขที่มีกิริยาเหมือนเป็นพวกชนชั้นสูง ” เชียนห่าว ซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ปักกิ่งที่นำเข้ามาถึง 4 ตัวกล่าวให้สัมภาษณ์ในขณะที่กำลังพาพวกมันออกเดินเล่นประจำวันบนรถเข็น
ทั้งนี้ สุนัขพันธุ์ปักกิ่งที่นำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาสูงถึง 100,000 หยวน หรือราว 507,000 บาทเลยทีเดียว
ขณะที่ยังไม่มีการบันทึกเป็นสถิติอย่างเป็นทางการถึงจำนวนของเจ้าของสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง จางซูซ่ง ซึ่งเป็นผู้เพาะเลี้ยงสุนัขพันธุ์ปักกิ่งที่นำเข้ามานานถึง 26 ปีเล่าให้ฟังว่า การผสมพันธุกรรมที่ไม่ดีและการขาดความสนใจทำให้เจ้าของทิ้งขว้างสุนัข
หลังจากหลายปีที่มีการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด หรือผสมพันธุ์ในเครือญาติ ทำให้สุนัขพันธุ์ปักกิ่งมีปัญหาด้านสุขภาพและประเด็นอื่นๆอีก เช่น ขาดความเฉลียวฉลาด
หวังเฟย ซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ปักกิ่งพื้นบ้านสีขาววัย 4 ปีชื่อเจี้ยนเจี้ยน กล่าวว่า การผสมพันธุ์สุนัขกลายเป็นเหยื่อของความนิยมในตัวมัน
“ ที่ผ่านมาในอดีต มีสุนัขพันธุ์ปักกิ่งพื้นบ้านจำนวนมาก ทุกคนจึงต้องการเลี้ยงสุนัขพันธุ์อื่นที่แตกต่างออกไป และตอนนี้ มีสุนัขปักกิ่งพื้นบ้านน้อยลงมาก แต่ผมคิดว่า พวกมันจะได้รับความนิยมและเพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้ง ”