อาลีบาบา/Tencentl สู้ศึกค้าปลีก
บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคของจีนอย่างอาลีบาบาและ Tencent ซึ่งมีมูลค่ารวมกัน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 31.56 ล้านล้านบาท มีการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง เหมือนบีบให้ผู้ซื้อต้องเลือกข้างในสงครามกระเป๋าเงินดิจิทัล
ตั้งแต่ต้นปี 2560 ทั้งสองบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างใช้เงินลงทุนไปมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 315,600 ล้านบาทกับดีลการค้าที่มุ่งเน้นไปที่การค้าปลีก ให้เป็นไปตามเป้าทั้งค้าปลีกออนไลน์และหน้าร้าน
การขับเคลื่อนอย่างดุเดือด ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากเงินทุนกองใหญ่และราคาหุ้นที่พุ่งทะยาน เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อเอาชนะใจผู้บริโภค และผู้ประกอบการหน้าร้าน โดยมีการแข่งขันกันทั้งในส่วนธุรกิจการจ่ายเงิน โลจิสติกส์ โซเชียลมีเดียและบริการข้อมูลและบริการ big data
ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ มีผู้ค้าปลีกน้อยลงเรื่อยๆ ที่อยู่รอดโดยไม่เป็นพันธมิตรกับ Tencent หรืออาลีบาบา
“ ผู้ค้าปลีกที่มีหน้าร้านทั่วโลกกำลังกังวลมาก พวกเขาต้องเลือกข้าง ” เจสัน หยู ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทวิจัยตลาด Kantar Worldpanel ซึ่งตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ให้ความเห็น “ อีกอย่างหนึ่งคือ พวกเขากลัวที่จะถูกกลืนทั้งเป็นในอนาคต ”
โดยอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซในจีนและบริษัทในเครือคือ Ant Financial เป็นผู้นำในการจ่ายเงินด้วยสมาร์ทโฟน ขณะที่ Tencent แข็งแกร่งจากโซเชียลมีเดีย การจ่ายเงินแบบดิจิทัล และเกม นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นใหญ่ในบริษัทค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 อย่าง JD.com อีกด้วย
Tencent และ JD.Com มีพันธมิตรเพิ่มขึ้นมาก ทั้งห้างสรรพสินค้าสัญชาติฝรั่งเศสอย่างคาร์ฟูร์ SA ซึ่งมีการประกาศการลงทุนอย่างมีศักยภาพจาก Tencent และห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างวอลมาร์ท ก็มีหุ้นใน JD.com นอกจากนี้ Tencent ยังซื้อหุ้นใน Yonghui เชนซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในจีนเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้วอีกด้วย
แต่กุญแจสำคัญในการเปิดฉากรบคือ ตลาดการจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนของจีนที่มีมูลค่าเกือบ 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 410.38 ล้านล้านบาท ซึ่งทั้งสองสู้กันแบบตัวต่อตัว โดยอาลีบาบาถือหุ้น 33% ในบริษัทในเครือ Ant Financial ในเดือนก.พ.นี้ ล่วงหน้าก่อนการเปิดขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ตามคาดการณ์
โดย Ant ให้บริการแพลตฟอร์มการจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟน คือ Alipay ขณะที่ทาง Tencent เป็นเจ้าของระบบจ่ายเงินที่ได้รับความนิยมคือ แอปพลิเคชันแชท Weixin และทั้งสองบริษัทกำลังขับเคลื่อนระบบคลาวด์ และข้อมูลอีกด้วย
“ ผมคิดว่าการจ่ายเงินเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะมันเกือบจะเป็นเกตเวย์ ” หยูกล่าว ร้านค้าในจีนคิดเป็น 85% ของการค้าปลีก จึงเป็นแรงดึงดูดมหาศาลสำหรับสองบริษัทยักษ์ใหญ่
“ นี่เป็นเหมือนเค้กก้อนใหญ่ ที่อาลีบาบา, JD.com และ Tencent ต้องการได้ส่วนแบ่งสักขิ้น เป็นส่วนใหญ่ของธุรกิจ ซึ่งคุณสามารถมองเห็นการเติบโตในอนาคต ”
ผลตอบแทนที่ได้คือ หน้าร้านสามารถเข้าถึงระบบการจ่ายเงิน โครงข่ายโลจิสติกส์ และบริการอื่นๆ นี่ยังไม่ได้พูดถึงข้อมูลของผู้บริโภคที่บริษัทควบคุมได้
ทั้งนี่้ อาลีบาบาเพิ่งลงทุนจำนวน 486 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 15,338 ล้านบาทในเดือนนี้ในบริษัท big data ที่เน้นการค้าปลีก โดยระบุว่าดีลครั้งนี้จะช่วยผู้ค้าปลีกที่มีหน้าร้านให้สามารถประสบความสำเร็จได้ในยุคดิจิทัล.