จี้ธนารักษ์ผุด“แผนผังดิจิทัล”บริหารที่ราชพัสดุ
“อุตตม” สั่งด่วน! เร่งธนารักษ์สร้าง “แผนผังดิจิทัล – รายภาค” หวังสร้าง BIG DATA รับมือการวางแผนและบริหารที่ “ราชพัสดุ” 12 ล้านไร่ รองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเศรษฐกิจทุกมิติ ตั้งแต่ภาพใหญ่ ยันเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงสังคมผู้สูงวัย และสร้างบุคลากรรับยุคดิจิทัล
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายธนกร วังบุญคงชนะ ร่วมตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและมอบนโยบายแก่กรมธนารักษ์ โดยมีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมผู้บริหารให้การต้อนรับ ก่อนประชุมหารือและสรุปผลการปฏิบัติงานร่วมกัน ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคาร 72 ปี กรมธนารักษ์ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา
รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ดินราชพัสดุในความดูแลของกรมธนารักษ์ราว 12 ล้านไร่กระจายทั่วประเทศนั้น จำเป็นจะต้องนำมาใช้เพื่อการพัฒนาในมิติต่างๆ ในยุคที่รัฐบาลกำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยีการผลิตยุคดิจิทัล และการดำเนินงานรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคตอันใกล้ โดยทั้งหมดต้องเป็นการดำเนินงานในเชิงรุก
“ผมได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์เร่งสร้าง “แผนผังดิจิทัล” เน้นรายภาค ที่ไม่เพียงเป็นการสร้างฐานข้อมูล BIG DATA รองรับการวางแผนและพัฒนากลุ่มจังหวัด ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนและเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ต้องสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องสามารถตรวจสอบการใช้ที่ราชพัสดุด้วยว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์การขอใช้พื้นที่หรือไม่? อย่างไร? หากไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ข้างต้น ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ฯได้ทันที” รมว.คลังย้ำและว่า
แผนผังดิจิทัลนี้ จะช่วยให้กรมธนารักษ์สามารถวางแผนงานและบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ รู้ได้ทันทีว่ามีที่ราชพัสดุอยู่ที่ไหนบ้าง? และควรจะทำอะไร? อย่างไร? กับที่ราชพัสดุเหล่านั้น โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง ดูแลและประสานงานเรื่องงบประมาณและบุคคลการที่จำเป็นต้องมีในดำเนินงานในครั้งนี้แล้ว
นายอุตตมย้ำอีกว่า จากนี้ กรมธนารักษ์จะนั่งคิดแผนงานและดำเนินโครงการเพียงลำพังไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันคิดและสร้างโครงการในการใช้ที่ราชพัสดุเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ หากพบที่ดินแปลงใดมีการบุกรุกก่อนปี 2546 ก็ให้ไปดำเนินการจัดทำเอกสารการเช่าอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่เพียงจะทำให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบข้อกฎหมาย แต่ยังทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียว กัน ภาคประชาชนเอง ก็จะได้สัญญาเช่าที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งตนได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ไปหารือในหลักการความร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D BANK ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าในชุมชน อันเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งแล้ว
นอกจากการใช้ที่ราชพัสดุเพื่อการทำมาหากินแล้ว ยังขยายผลไปไปยังการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และใช้เป็นที่ตั้งสถานที่พัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยให้ไปประสานความร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และภาคเอกชน แล้ว.