ไทยอ่วมเบร็กซิทกดจีดีพีวูบ
“ธนวรรธน์”เผยเศรษฐกิจไทยรับผลกระทบจากเบร็กซิทกดจีดีพีไทยลดฮวบ 0.32% เหลือโต 2.7-3.2% คิดเป็นมูลค่าที่หายไป 4.4 หมื่นล้านบาท
แนะรัฐตั้งกองทุนฉุกเฉิน 50,000 ล้านบาทพยุงเศรษฐกิจ“มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่ากรณีที่ชาวอังกฤษมีมติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จะทำให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยลดลง 0.32%” นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผลกระทบของการที่สหราชอาณาจักรลงประชามติถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท จะทำให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยลดลง 0.32% คิดเป็นมูลค่า 44,850 ล้านบาท จากการที่มูลค่าการส่งออกหายไป 24,850 ล้านบาท โดยในส่วนของการส่งออกไปอังกฤษมูลค่าจะหายไป 8,875 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออกอียูรวมอังกฤษ จะหายไป 14,200 ล้านบาท
นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวจะหายไป 10,000 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยลดลง 200,000 คน เฉพาะนักท่องเที่ยวอังกฤษคาดหายไป 60,000 คน คิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท แต่หากรวมนักเที่ยวอังกฤษและอียู จะหายไป 120,000 มูลค่าหายไป 6,000 ล้านบาท และการบริโภคภายในประเทศลดลง 10,000 ล้านบาท ทำให้คาดว่า ประมาณการณ์จีดีพีไทยที่จะโต 3-3.5% เหลือเพียง 2.7-3.2% เท่านั้นแต่ศูนย์ฯ ยังไม่ปรับประมาณการณ์จีดีพีใหม่ จะรอดูผลในอีก 1-3 เดือนจากนี้ก่อน
“ไทยยังโชคดี ที่เกิดกรณีเบร็กซิท ในช่วงนี้เพราะมีข้อดีคือ นักท่องเที่ยวยังไม่หายไปมากนัก เพราะยังไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น แต่เป็นโลว์ซีซั่น ดังนั้นเมื่อเข้าเดือนต.ค.ต้องรอดูสถานการณ์อีกครั้งว่าจะมีผลกระทบไปทางไหน อียูจะใช้ไม้นวมกับอังกฤษ หรือใช้ไม้แข็ง เพื่อไม่ให้ประเทศอื่นเอาอย่าง ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจะต่างกัน แต่มองว่าระยะแรกๆ อียูกับอังกฤษ ค่อยๆ เจรจากันแบบเบาๆ ในเชิงบวกเพื่อประคองไม่ให้เศรษฐกิจโลกบอบช้ำมากไปกว่านี้ ในช่วงไตรมาส 4 รอให้เศรษฐกิจโลกพอฟื้นตัวได้ก่อน แล้วค่อยไปเล่นแรงๆ หนักๆ กันในช่วง 2 ปีหลังที่เศรษฐกิจโลกดีขึ้นแล้ว”
สำหรับข้อแนะนำคือ รัฐบาลควรเร่งสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยด้วยการบริโภคภายใน ทั้งเร่งกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตั้งงบกลาง หรือกองทุนฉุกเฉิน เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบ 50,000 ล้านบาท ตามวงเงินที่จะหายไป เพื่อพยุงเศรษฐกิจ หากเกิดกรณีฉุกเฉินให้อัดฉีดเข้าภาคเกษตร ชาวฐานราก รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน โดยเฉพาะการค้าชายแดน ตั้งแต่ครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไปถึงปีหน้า
“คาดว่าเงินจะหายไปจากระบบ 50,000 ล้านบาท จากการที่จีดีพีจะลดลง 0.3% ภายใต้กรอบ 30,000-60,000 ล้านบาท หรือ 0.2-0.4% ทำให้ คาดว่าจีดีพีไทยปีนี้ คงจะเหลือเพียง 2.7-3.2% เท่านั้น จากเดิมที่มองไว้ 3-3.5% ก่อนเกิดเบร็กซิท หลังจากครึ่งปีแรกโต 2.8-3.3% และครึ่งปีหลังนี้จะโต 3.3-3.8% แต่เมื่อเกิดเบร็กซิทแล้ว โอกาสที่จะโตถึง 3% มีน้อยลงไปมาก แต่ยังมีโอกาส ถ้ารัฐมีมาตรการอัดฉีดออกมา และยังไม่มีความเสี่ยงใดเกิดขึ้นเพิ่มเติมอีกในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้า”
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจภาคธุรกิจบริการ การค้า อุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรมพบว่า ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจภายในประเทศ ธุรกิจส่งออก มองว่าเบร็กซิทจะกระทบระยะสั้น โดยไม่กระทบต่อรายได้ กำไร และสภาพคล่องมากนัก เพราะยังเชื่อว่าภาคเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็งอยู่ แต่ยอมรับว่าจะกระทบมากในภาคการท่องเที่ยวมากกว่า
ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.ประเมินว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะติดลบ 2% จากเดิมที่คาดว่าจะไม่เติบโต หรือ 0% ถึงลบ 2% เพราะผลกระทบของเบร็กซิท ที่ทำให้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าผันผวน ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ แต่หากผลกระทบของเบร็กซิทเลวร้ายไปกว่านี้ จะยิ่งทำให้การส่งออกไทยติดลบมากขึ้น และหากประเทศต่างๆ ร่วมมือกันผ่อนคลายผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้การส่งออกไทยดีขึ้นได้
ขณะเดียวกัน ไทยต้องกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการเจรจาการค้าเสรีกับอียู และอังกฤษ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการเจรจา หากมีประเทศสมาชิกอื่นออกจากอียูเพิ่มเติม เพราะมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ขณะที่ประเทศคู่ค้าทั่วโลกกังวลกับปัญหาดังกล่าว จนกระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าลดลงตามไปด้วย