การแข่งขันของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ การแข่งขันของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร ดันธุรกิจ Food Delivery เติบโตต่อเนื่อง คาดมีมูลค่าสูงถึง 33,000 – 35,000 ล้านบาท ในปี 2562
การแข่งขันของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร (Food Delivery Application) ไม่เพียงแต่ผลักดันให้ธุรกิจ Food delivery ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้เล่นที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร อาทิ ร้านอาหารรวมถึงร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจมีผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป สะท้อนจากผลสำรวจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างสูงถึง ร้อยละ 63 คิดว่าการมีบริการสั่งอาหารผ่าน Application ประเภทต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของตน
บทบาทของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารที่เพิ่มขึ้นและยังเติบโตสูง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ในปี 2562 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 33,000 – 35,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องราวร้อยละ 14 จากปีก่อน
การกระจายรายได้ให้กับผู้เล่นในห่วงโซ่ธุรกิจ Food Delivery นอกจากการเติบโตเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 10 ต่อปีแล้ว ธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ในปัจจุบันนั้นมีการพัฒนาอย่างมากทั้งในแง่ ความเร็ว และความหลากหลายของประเภทอาหารที่มีให้เลือกมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการเข้ามาของผู้เล่นจากนอกอุตสาหกรรมที่เข้ามานำเสนอทางเลือกใหม่ๆให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงเข้ามาดึงส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจ Food Delivery
จากการศึกษาโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร อาจมีส่วนช่วยให้มูลค่าของธุรกิจ Food Delivery มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเดินทางไปยังร้านอาหารมาเป็นค่าจัดส่งสินค้า ซึ่งรายได้ส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นยังได้กระจายตัวไปยังผู้เล่นต่างๆในห่วงโซ่ธุรกิจอีกด้วย อาทิ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่สามารถมีทางเลือกของอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มเติมโดยการรับงานผ่านแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารที่มีให้เลือกมากมาย ซึ่งคาดว่ากลุ่มผู้ขับขี่รถจักยานยนต์นี้ น่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มูลค่าประมาณ 3.9 พันล้านบาท ร้านอาหารซึ่งรวมถึงร้านอาหารขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มรวบรวมร้านอาหารเพื่อขยายจำนวนฐานลูกค้าโดยที่ไม่ต้องเพิ่มทรัพยากรเงินทุนและแรงงานในส่วนของระบบขนส่งเอง ทำให้อาจมียอดขายเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของฐานลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งอาจมีส่วนแบ่งของรายได้มูลค่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ทางฝั่งของแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารเองนั้นก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากค่าบริการที่ได้รับทั้งทางฝั่งร้านอาหารและผู้บริโภค ทำให้อาจมีส่วนแบ่งของรายได้ประมาณ 3.4 พันล้านบาท จากมูลค่ารวมของธุรกิจ Food Delivery ในปี 2562 ที่ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า เส้นคั่นระหว่างธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆในธุรกิจร้านอาหารจะมีบทบาทน้อยลง ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของผู้เล่นในธุรกิจ Food Delivery จากทั้งผู้เล่นในธุรกิจร้านอาหารเองรวมไปถึงผู้เล่นจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นอาจส่งผลให้กลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่ที่พยายามเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด ทั้งร้านอาหารและตัวแอปพลิเคชั่นเองต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาส่วนแบ่งการตลาดในระยะยาว ทำให้อาจมีผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องถอนตัวจากตลาด หรือควบรวมกิจการกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในห่วงโซ่ธุรกิจร้านอาหาร
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พัก (Food Delivery) ในปี 2562 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 33,000 – 35,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องราวร้อยละ 14 จากปีก่อน และคิดเป็นร้อยละ 8 ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารของประเทศไทยในปี 2562