LAMPTITUDEจับนวัตกรรมใส่ดีไซน์เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
บนโลกของธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวินาทีที่เข็มนาฬิกาเคลื่อนไหว ผู้ที่สามารถเกาะกระแสการเปลี่ยนแปลง และปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจได้เท่าทันย่อมสามารถนำพาธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน และมั่งคง
สาธิต ก่อกูลเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ไลท์ จำกัด คือผู้บริหารหนุ่มทายาทเจ้าของธุรกิจจำหน่ายโคมไฟ และหลอดไฟรายใหญ่ ที่กล้าลุกขึ้นมาปฏิวัตรรูปแบบธุรกิจของครอบครัว จนสามารถสร้างฐานลูกค้าใหม่ และขยายตลาดให้กว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิมได้
ปรับรูปแบบธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่ม
สาธิต บอกถึงที่มาที่ไปของธุรกิจให้ฟังว่า ในยุคแรกเริ่มของ บริษัท เพมโก้ อินเตอร์ไลท์ จำกัด ถือว่าเป็นธุรกิจจำหน่ายโคมไฟและหลอดไฟรายใหญ่ แต่เส้นทางธุรกิจของบริษัทต้องสะดุดชะงักลง จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศไทยเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ตนเพิ่งเรียนจบมาหมาดๆ พร้อมกับไฟแห่งความรู้ที่ต้องการเวทีในการแสดงศักยภาพ โดยเมื่อได้ลงลึกศึกษาธุรกิจอย่างจริงจัง ทำให้เกิดแนวคิดในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ เพื่อให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าที่เป็นอยู่ รูปแบบธุรกิจ Lighting Studio ภายใต้ชื่อ แลมป์ติจูด (Lamptitude) จึงเกิดขึ้น และถือว่าเป็นรายแรกของประเทศ
Lamptitude มาจากคำว่า Lamp รวมกับคำว่า Attitude โดยเป็นการหามุมมองใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ซึ่งจะเน้นจำหน่ายสินค้าด้าน Art and design ผสมผสานระหว่างการใช้งานและความสวยงาม เพื่อบุกตลาดโคมไฟสไตล์โมเดิร์นที่ราคาอยู่ในระดับกลาง ซึ่งเป็นช่องว่างของตลาดที่ยังมีโอกาสเติบโตได้ โดยมุ่งเน้นการวางตำแหน่งแบรนด์ที่ชัดเจน เพื่อให้แลมป์ติจูดเป็นสถานที่อัพเดทเทรนด์สินค้าใหม่ๆ ให้ทั้งลูกค้า สถาปนิก และนักออกแบบ
นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการทางด้านการออกแบบแสงสว่าง (Lighting Design) ให้ลูกค้าด้วย เช่น โทนแสงที่เหมาะสมในร้านค้า สถานที่ หรือโชว์รูมจัดแสดงสินค้าของธุรกิจแบรนด์เนมต่าง ๆ อาทิ JASPAL ,GROUP และ Starbuck เป็นต้น
ชูนวัตกรรมล้ำหน้าตอบสนองทุกการใช้งาน
สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Lamptitude นั้น สาธิต บอกว่า อยู่ที่การเพิ่มนวัตกรรมเข้าไปให้กับผลิตภัณฑ์ โดยทุกปีบริษัทจะต้องมีคอนเซปป์ใหม่ หรือดีไซน์ใหม่ออกมา ตอบรับกระแสการใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยปีนี้จะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นโคมไฟแบบติดราง (Tracklight) เนื่องจากมองว่าทุกวันนี้ฝ้าที่มาพร้อมกับบ้าน หรือคอนโดจะมีพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัดในการติดตั้งโคมไฟ เพราะฉะนั้น บริษัทจึงนำนวัตกรรม Tracklight เข้ามาช่วยลูกค้าที่ต้องการแสงสว่างเพิ่มเติม ในพื้นที่ที่ต้องการแบบไม่จำกัด
ขณะที่ในส่วนของด้านการบริหารจัดการ บริษัทมีทีมงานเป็นคนอิตาลีทำงานอยู่ที่จีนเพื่อทำหน้าที่สำรวจวิจัยตลาดเพื่อหาสินค้าตัวใหม่ๆ และใช้กลยุทธ์ผลักดันสินค้าโดยการให้นักออกแบบนำไปใช้ในงาน Project ต่าง ๆ นอกจากนี้ มีการทำระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม (Enterprise Resource Planning : ERP) จึงสามารถตรวจสอบปริมาณสินค้าในคลังและยอดจำหน่ายของสินค้าแต่ละตัวได้ตลอดเวลา ทำให้ บริษัท เพมโก้ อินเตอร์ไลท์ จำกัด ได้รับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 12 ในมิติการบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ (Operational Best Practice) และการบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing)”
ตั้งเป้ารักษาระดับรายได้พร้อมเตรียมบุก ตปท.
สาธิต บอกว่า ปัจจุบันแลมป์ติจูดมีเปิดให้บริการ 5 สาขา จากเดิมที่มีอยู่ 6 สาขา และสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ 550 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากต้องคืนพื้นที่ที่สาขาปิ่นเกล้าไป ทำให้ปัจจุบัน Lamptitude มีสาขา ได้แก่ เอกมัย ,บางนา ,ราชพฤกษ์ ,เชียงใหม่ และประเทศสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะรักษาระดับรายได้ให้อยู่ในระดับทรงตัวเท่าปี 2559 แม้ว่าสาขาจะหายไป 1 สาขาก็ตาม โดยเชื่อว่าจะสามารถทำได้ เนื่องจากบริษัทยังมีกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงการตกแต่งร้านอยู่เสมอ
อย่างไรก็ดี ปีนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ โดยมองเป้าหมายไว้ที่ประเทศฮ่องกง และไต้หวัน โดยล่าสุดขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทดลองตลาด โดยการส่งสินค้าเข้าไปสำรวจความต้องการของผู้บริโภคโดยตรง พร้อมทั้งเสาะหาตัวแทนจำหน่ายที่มีศักยภาพ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทเข้าไปจำหน่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าจะสามารถเข้าไปทำตลาดได้อย่างเต็มตัวเมื่อใด เพราะพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันออกไป บริษัทจึงต้องใช้เวลาในการตัดสินใจอย่างรอบครอบ
“สัดส่วนลูกค้าของบริษัทจะเป็นกลุ่มรายย่อย (Retail) อยู่ที่ 50% กลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทหรือที่มาจากดีไซน์เนอร์ (Project) อยู่ที่ 50% สินค้าของบริษัทมีมากกว่า 1,000 SKU แบ่งเป็นชนิดใช้งานเพื่อการส่องสว่าง (Architecture) ประมาณ 70% และชนิดใช้งานเพื่อความสวยงามและตกแต่ง (Decorative) ประมาณ 30% โดยบริษัทจะมีสินค้าออกใหม่ 2-5 ชิ้นในทุกๆเดือน ซึ่งก่อนที่จะผลิตหรือนำเข้าจะปรึกษานักออกแบบเพื่อให้ได้สินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และทำตลาดผ่าน Social Media เป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายในสังคมยุคออนไลน์”
เล็งปรับองค์กรปูพรหมรายได้ในอนาคต
สาธิต กล่าวต่อไปอีกว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะปรับปรุงระบบ ERP และการบริหารจัดการภายใน เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับบริษัท ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตลาดที่มีประสิทธิภาพได้ในอนาคต เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมายอดความต้องการสินค้าของบริษัทจากลูกค้ามีเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่บริษัทไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังเสียที
“การเปิดสาขาเพิ่มจะทำให้ยอดขายของบริษัทโตได้ทันที 50 ล้านบาทต่อ 1 สาขาต่อปี แต่ปัจจุบันเรายังไม่มีศักยภาพที่เพียงพอจะรองรับ ดังนั้น เราจึงย้อนกลับมาพัฒนาองค์กรให้ความเข้มแข็งก่อน เพื่อเป็นการวางรากฐานที่มั่นคง และนำไปสู่รายได้ในอนาคต”