กัลฟ์เอ็มทีพีฯลุยสร้างท่าเรือฯ โปรเจกต์แรกอีอีซี
กนอ.เซ็นสัญญาร่วมลงทุนแบบ PPP NET Cost กับ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด หลัง ครม.ไฟเขียว พัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ปี’68
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันนี้ ( 1ตุลาคม ) หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดซึ่งเป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ในการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ( ช่วงที่ 1) กนอ.จึงได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) ที่เป็นผู้ชนะประมูลโครงการดังกล่าว โดยเป็นสัญญาร่วมทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) NET Cost หรือร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยให้เอกชนได้รับสิทธิ์ในการประกอบกิจการบนพื้นที่ จำนวน 200ไร่ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง
“โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 ช่วงที่ 1 นับเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ EEC Project List ที่ถือเป็นโครงการแรกในการเซ็นสัญญาร่วมทุน กนอ.คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 และมั่นใจว่าจะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้นและนี่จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อของไทยเพื่อเชื่อมไปสู่ประตูเศรษฐกิจกลุ่มประเทศCLMVT”นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ภายหลังการลงนามกนอ.จะส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทคู่สัญญาเข้าสำรวจออกแบบรายละเอียดและก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เป็นไปตามเป็นไปตามสัญญาร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พร้อมกันนี้ กนอ.เตรียมที่จะเข้าไปยื่นเอกสารต่อกรมเจ้าท่า เพื่อให้การพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุด ระยะที่3 ช่วงที่ 1 ทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และส่วนของระบบสาธารณูปโภคภายในพื้นที่ท่าเรือฯเป็นไปตามกฎหมายการขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยอย่างถูกต้อง
นอกจากนั้น กนอ.จะมีการจั้งตั้งกองทุนตามมาตรการที่กำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) ไม่ว่าจะเป็นด้านผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนโดยรอบพื้นที่และใกล้เคียงอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน และภายหลังที่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่1 โดยมี 5 ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนจาก กนอ. ผู้แทนจาก สกพอ. ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนจากบริษัทเอกชนร่วมลงทุน เพื่อเข้ามากำกับดูแลการพัฒนาให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานภายใต้สัญญาร่วมลงทุนต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท โดยในช่วงที่ 1 จะเป็นการพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยบริษัทคู่สัญญาที่ได้ลงนามแล้วก็สามารถเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้ทันที ซึ่งเอกชนที่ชนะการประมูลในช่วงที่ 1 จะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และ ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
นอกจากนั้นในช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ(Superstructure)กนอ.จะดำเนินการออกทีโออาร์เพื่อประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า