กสอ.ตั้งเป้าสร้างกลไกRISMEPทั่วประเทศปี66
กสอ.เผยผลการดำเนินโครงการ RISMEP หนุน SMEs แบบบูรณาการ ตั้งเป้าครอบคลุม 76 จังหวัด ภายในปี 2566 พร้อมระบุ 2 ปีที่ผ่านมา (2560-2561) สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 70 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณเกือบ 13 ล้านบาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีหน่วยงานส่งเสริม SMEs หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน แต่ส่วนมากตั้งอยู่ ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้การรับบริการของ SMEs ที่ยังไม่ทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จึงเป็นที่มาของการสร้างกลไกส่งเสริม SME ในระดับท้องถิ่นหรือ Regional Integrated SME Promotion (RISMEP) Mechanism ที่ได้นำรูปแบบจากผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency-JICA) ภายใต้ โครงการสำรวจแผนการวางระบบส่งเสริม SME ระดับท้องถิ่นในประเทศไทย ดำเนินการ ณ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างปี 2552 – 2554 มาดำเนินการใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้จาการดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างการดำเนินการ กรมฯ ได้ขยายพื้นที่การดำเนินงานเพิ่มอีก 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี ชลบุรี และจังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 11 จังหวัดที่มีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตั้งอยู่ นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือจากJICA ให้ช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องหลังจากเสร็จสิ้น การดำเนินงานระยะแรกในเดือนพฤษภาคม 2559 โดย JICA ตอบรับและให้การสนับสนุนภายใต้กรอบความร่วมมือ Follow-up Cooperation ดำเนินการ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2561 ภายใต้ภารกิจหลัก คือ สนับสนุนการสร้างกลไก RISMEP ใน 7 จังหวัดขยายผลให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รักษากลไก RISMEP ใน 4 จังหวัดนำร่องให้คงอยู่และดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในขณะเดียวกันยังได้เตรียมความพร้อมการขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียงกับจังหวัดที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ ด้วย
“การสร้างกลไก RISMEP กรมฯ ได้รับความร่วมมือทางวิชาการจาก JICA ในการส่งผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นมาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสร้างเครือข่ายและพัฒนากระบวนการในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการส่งเสริม SMEs ในระดับท้องถิ่นในลักษณะ One-stop Service และการให้บริการปรึกษาแนะนำโดยทีมให้คำปรึกษา ของเครือข่าย (Consulting Team) ที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น ได้แก่ โครงการ/กิจกรรม เจ้าหน้าที่หน่วยงานเครือข่ายหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือ ตลอดจนบริการส่งเสริมวิสาหกิจในรูปแบบอื่น ๆ ของสมาชิกเครือข่ายในการตอบสนองต่อความต้องการใช้บริการของวิสาหกิจ ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่กำลังประสบอยู่ รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดวิสาหกิจไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กลไก RISMEP มีส่วนช่วยให้เกิดรูปแบบบริการใหม่ ๆ จากการบูรณาการการทำงานของทั้ง 2 เครือข่าย (เครือข่ายหน่วยงานให้บริการส่งเสริม SMEs และเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจ) และการพัฒนาเครื่องมือการให้บริการของหน่วยงาน ภายในเครือข่ายให้มีศักยภาพและคุณภาพในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2560-2561) สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 70 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณเกือบ 13 ล้านบาท”
นายกอบชัย กล่าว อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในปี 2561 การดำเนินโครงการภายใต้กรอบ Follow – up Cooperation (สิงหาคม 2559 – กันยายน 2561) สามารถสร้างเครือข่ายหน่วยงานให้บริการ SME (BDSP) จำนวน 245 หน่วยงาน มีผู้ให้บริการ (Service Provider: SP) 217 คน มีการส่งต่อบริการ ที่มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานและสมาชิกเครือข่ายตั้งแต่ 2 หน่วยงาน/บุคคล ขึ้นไป เช่น ด้านการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ การสร้างแบรนด์และจดสิทธิบัตรคุ้มครองสินค้า การตลาดออนไลน์ มาตรฐาน อย. GMP การยืดอายุสินค้า การปรับปรุงคุณภาพการผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์ มาตรฐาน IFOAM การปรับปรุงกระบวนการผลิตด้านสินเชื่อ ค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น จำนวน 72 ราย ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 กสอ. ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการไปยังจังหวัดข้างเคียงกับที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าขยายผลการสร้างกลไก RISMEP ให้ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ภายในปีงบประมาณ 2566 โดยในปี 2562 ดำเนินการครบ 22 จังหวัด ปี 2564 ดำเนินการครบ 44 จังหวัด และในปี 2566 ดำเนินการครบ 76 จังหวัด