รัฐออกประกาศฯเร่งสถาบันการเงินประชาชน
รัฐบาลเดินหน้า “สถาบันการเงินประชาชน” หลังคลอด กม.และเริ่มบังคับใข้เมื่อปลายเดือน ส.ค.62 เผยคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชนรับบูก เร่งออกประกาศกำหนดองค์กรการเงินชุมชน ธนาคารผู้ประสานงาน และหลักเกณฑ์การดำเนินงานเบื้องต้น หวังขับเคลื่อนเต็มที่
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน และรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 ส.ค.62 ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.62 และต่อมาคณะกรรมการฯ ได้ออกประกาศจำนวน 5 ฉบับ เพื่อกำหนดองค์กรการเงินชุมชน ธนาคารผู้ประสานงาน และหลักเกณฑ์การดำเนินงานเบื้องต้นของสถาบันการเงินประชาชนเพื่อให้สอดคล้องตาม พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย.62 มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.62 เป็นต้นมา ประกาศคณะกรรมการฯ จำนวน 5 ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.กำหนดให้กลุ่มออมทรัพย์/กลุ่มสัจจะ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต สถาบันการเงินชุมชน และวิสาหกิจชุมชนที่ให้บริการทางการเงินและไม่เป็นนิติบุคคล เป็นองค์กรการเงินชุมชนตาม พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เป็นธนาคารผู้ประสานงานตาม พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน
2. กำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ย/ผลตอบแทน ค่าธรรมเนียม และค่าบริการโอนเงินและรับชำระเงินของสถาบันการเงินประชาชน
3.กำหนดให้สถาบันการเงินประชาชนพิจารณาฝากเงิน/กู้ยืมเงินในกรณีที่มีความจำเป็นกับธนาคารผู้ประสานงานเป็นอันดับแรก โดยในกรณีที่ไม่มีธนาคารผู้ประสานงานที่รับผิดชอบในพื้นที่หรือธนาคารผู้ประสานงานไม่อาจให้บริการได้อย่างเหมาะสม สถาบันการเงินประชาชนสามารถฝากเงินกับสถาบันการเงินแห่งอื่นได้
4. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้บริการทางการเงินโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการเงินประชาชน ดังนี้
4.1 สถาบันการเงินประชาชนต้องจัดให้มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อรองรับเทคโนโลยีสารสนเทศที่ธนาคารผู้ประสานงานได้จัดทำและพัฒนาขึ้น ซึ่งต้องประกอบด้วย Software สำหรับใช้ในการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินโดยเฉพาะ และระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินประชาชนกับธนาคารผู้ประสานงาน
4.2 สถาบันการเงินประชาชนต้องบันทึกข้อมูลทั่วไปและข้อมูลการทำธุรกรรมของสมาชิก และข้อมูลการฝากเงินและกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน รวมถึงต้องประมวลผลข้อมูลและจัดทำรายงานงบการเงิน โดยสามารถสรุปยอดเป็นรายวัน รายเดือน และรายปี และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ธนาคารผู้ประสานงานได้จัดทำและพัฒนาขึ้น
4.3 สถาบันการเงินประชาชนต้องมีการควบคุมดูแลให้มีการรักษาความปลอดภัย ความถูกต้องเชื่อถือได้ของข้อมูล และความพร้อมใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการดูแลข้อมูลลับ นอกจากนี้ การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศจะต้องมีการควบคุมการเข้าถึงระบบและฐานข้อมูล โดยต้องกำหนดให้มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนเพื่อเป็นการรักษาความลับและความปลอดภัยของระบบและข้อมูล
ทั้งนี้ รองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีการเปิดให้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนกับธนาคารผู้ประสานงานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการออกประกาศคณะกรรมการฯ และประกาศนายทะเบียนสถาบันการเงินประชาชนเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชนให้ครบถ้วนและสอดคล้องตาม พ.ร.บ.ฯ และการเตรียมความพร้อมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารผู้ประสานงานแต่องค์กรการเงินชุมชนที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย เช่น มีทุนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท มีการจัดทำงบการเงินประจำปีต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี มีผลการดำเนินงานเป็นกำไรต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เป็นต้น ที่มีความสนใจจะยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนสามารถติดต่อกับธนาคารผู้ประสานงานไว้เบื้องต้นก่อนได้.