คลังปฏิวัติบล็อกเชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ก.คลัง พร้อม 9 หน่วยงานหลักในสังกัดฯ ร่วมปฏิวัติเทคโนโลยีระดับโลก ประกาศนำ “บล็อกเชน” มาใช้ในการจัดเก็บรายได้ ประเมินราคาที่ดิน อำนวยความสะดวกด้านนำเข้า-ส่ง ฯลฯ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อม “คืนแว็ต” ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ง่ายและเร็วขึ้น มั่นใจ “ดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่” จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ชมชนฐานรากทั่วประเทศ
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ประเทศชั้นนำของโลกเปลี่ยนไปสู่ Smart Country ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ เช่นกัน กระทรวงการคลังได้ผลักดันนโยบาย National e- Payment เพื่อก้าวสู่Thailand 4.0 โดยเริ่มจากโครงการพร้อมเพย์ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากมีภารกิจหลักในการบริหารงบประมาณแผ่นดิน บริหารทรัพย์สิน และการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ และตรวจสอบธุรกรรมข้อมูลของประเทศ รวมทั้งยกระดับประสิทธิภาพของโครงสร้างระบบงานของหน่วยงานในสังกัด
ดังนั้น กระทรวงการคลังได้ผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยี สำหรับระบบการจัดเก็บและตรวจสอบธุรกรรมข้อมูลที่สามารถตอบโจทย์เรื่องความรวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ที่สำคัญสามารถเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจองค์รวมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นกระทรวงแรกของประเทศที่นำบล็อกเชนมาใช้ในหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงฯ อีกทั้งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและผู้มาติดต่อขอใช้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบงาน การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล การหาแหล่งเงินทุน การบริหารทรัพย์สินและการประมูลงาน ยกระดับประสิทธิภาพระบบงาน ลดขั้นตอน รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้
“กระทรวงการคลังจะนำบล็อกเชน มาพัฒนาระบบงานในหน่วยงานต่างๆ ครอบคลุมถึงหน่วยงาน การจัดเก็บรายได้ การบริหารทรัพย์สิน บริหารรายจ่ายตามงบประมาณ ระบบการออม และระบบสวัสดิการต่างๆของประชาชน ซึ่งในระยะแรกนี้ประกอบด้วย 8 โครงการ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Government Procurement : e-GP) โดยบล็อกเชนของ e-GP มีการรวบรวมข้อมูลประวัติของผู้ประกอบการนิติบุคคล รวมถึงระบบ Rating ของผู้ประกอบการตามผลงานในการทำงานกับภาครัฐ สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการลดระยะเวลา และภาระของผู้ประกอบการในการจัดเตรียมเอกสาร เพื่อขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการและการยื่นเสนอราคา โดยจากข้อมูล ปี2562 ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 3.6 ล้านโครงการ วงเงินรวมกว่า1.4 ล้านล้านบาท ลดภาระให้ผู้ประกอบการกว่า 270,000 ราย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสของระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งช่วยผลักดันการใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่รากหญ้าให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงกับระบบของสถาบันการเงิน และระบบการประเมินคุณภาพแบบบูรณาการของผู้ประกอบการที่ร่วมงานกับภาครัฐได้อีกด้วย”
ในส่วนของการคืนภาษีของนักท่องเที่ยว (VAT Refunds for Tourists) นั้น ได้มีการนำระบบบล็อกเชนมาใช้ เพื่อปฎิวัติระบบการคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงระบบบล็อกเชน โมบายแอพพลิเคชั่น ระบบยืนยันตัวตนของนักท่องเที่ยว รวมถึง e-Tax Invoice ของร้านค้าเพื่อใช้ในระบบภาษี มาเชื่อมต่อกับกระบวนการต่างๆ ในประเทศ และระบบ Payment and Settlement ต่างประเทศ เช่น AliPay WeChat Visa และ Master เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดยสามารถเช็คยอดคืนภาษี ขอคืนภาษีได้ทันที รับภาษีคืนได้ภายใน 3 วันทำการ จากปกติใช้เวลา 34 วันทำการ ไม่ต้องถือเงินสดกลับประเทศ ได้รับอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าตลาด ไม่ต้องเข้าคิวสำแดงสินค้าที่กรมศุลกากรที่มีมากกว่า 7 แสนคนต่อปี และไม่ต้องเข้าคิวขอคืนภาษีที่มีมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการของภาครัฐ โดยช่วยลดเรื่องการตรวจเอกสาร ลดการใช้กระดาษได้สูงสุด 10 ล้านใบต่อปี ลดต้นทุนในการจัดการ ลดความหนาแน่นของคิวที่สนามบิน ลดต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสด และสามารถคัดแบบข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกได้ทันที จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เหล่านี้ล้วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของประเทศ การกระจายรายได้ไปยังผู้ประกอบการรายย่อย การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนระดับรากหญ้า
สำหรับการออมผ่านพันธบัตรรัฐบาล ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Scripless Bond) จะช่วยให้การออกพันธบัตรรัฐบาล การจำหน่าย รวมถึงการรับฝากทรัพย์สิน โดยระบบสามารถออกพันธบัตรหน่วยย่อยที่ 1 บาทต่อ1 พันธบัตร ทำให้ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัวทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เสริมสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยระบบจองก่อนได้ก่อน (First Come First Serve) ในการจัดจำหน่าย และช่วยลดขั้นตอนในกระบวนการต่างๆให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยระบบจะเชื่อมต่อกับตลาดหลัก และตลาดรอง รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถขยายไปยังระบบการค้าระหว่างเขตชายแดน ( Cross Border Trading ) และในอนาคตสามารถขยายไปสู่นวัตกรรมอื่นๆต่อไป
ทั้งนี้ ระบบบล็อกเชน นอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการเดินทางของประชาชนในการเข้ามาจองซื้อพันธบัตรที่สาขา ยังช่วยสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการจองซื้อพันธบัตร เพิ่มความสะดวกในการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนในพันธบัตรของประชาชน โดยในแอพพลิเคชั่นนอกจากจะมีการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลการถือครองพันธบัตรของประชาชนแล้ว ยังมีข้อมูลบทความที่เป็นประโยชน์ในการลงทุนให้กับประชาชนอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยลดระยะเวลาในการออกใบพันธบัตรตจากเดิม 4 วันเหลือเพียงไม่ถึงวัน
ด้านการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ระบบบล็อกเชนจะช่วย Centralize and Digitize เอกสารทุกประเภทที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การสั่งสินค้า การผลิต การนำเข้า การส่งออก จนกระทั่งสินค้าถึงมือผู้รับ โดยใช้ Digital Document ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงเอกสารได้ตามสิทธิ เป็น One Single Document โดยช่วยให้กระทรวงการคลังสามารถประมาณรายได้การจัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง ความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผลิต การนำเข้า และการส่งออก
โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Welfare) เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูล เรื่อง Identity จากทุกภาคส่วน มาเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทะเบียนผู้รับสวัสดิการ และใช้คุณสมบัตรของบล็อกเชนในการอัพเดทและแชร์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันการใช้สวัสดิการในทางที่ผิดและลดทุจริตจากผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ
นอกจากนี้ ในส่วนของสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ (Healthcare) นั้น ระบบบล็อกเชนได้เข้ามาช่วยเชื่อมโยงข้อมูลของกระทรวงสาธารณะสุข และโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการยืนยันตัวตนและใช้สิทธิตามกรอบที่ได้ รวมทั้งต่อยอดคุณสมบัติของบล็อกเชนที่สามารถอัพเดทและแชร์ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยสร้างความโปร่งใสและถูกต้องของผู้ใช้สิทธิ อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบรักษาพยาบาลในประเทศ
ขณะที่การจัดทำราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้การเก็บภาษีจากการซื้อขายและถือครองที่ดินได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และสามารถขยายขอบเขตไปถึงการจัดทำโฉนดที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะส่งผลให้การประเมินราคา และกระบวนการเก็บภาษีที่ดิน มีความโปร่งใส และถูกต้อง รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันสถาบันการเงิน สามารถป้องกันการทุจริตจาก Double Financing
“นับเป็นก้าวแรกที่กระทรวงการคลังนำดิจิทัลสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน และก้าวที่สำคัญในการบูรณการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงการคลัง และองค์กรชั้นนำที่สำคัญของประเทศที่ให้เกียรติมาร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างความแข็งแกร่ง ด้วยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีบล็อกเชน มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและประเทศชาติ เข้าสู่ Thailand 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ” รมว.คลังย้ำ
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริการหนี้สาธารณะ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคากรุงไทย รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินโครงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสถาปัตยกรรม ในการรองรับภารกิจของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ระหว่าง 9 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย ภายใต้งาน MOF Digital Platform is Now : กระทรวงการคลังนำดิจิทัลสร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังกลายเป็นกระทรวงแรกที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับหน่วยงานในสังกัด หลังจากที่ได้ดำเนินการในเรื่องพร้อมเพย์และ เนชั่นแนล อี เพย์เม้นท์ ไปก่อนหน้านี้แล้ว
โดยจะเน้นการนำบล็อกเชนมาใช้พัฒนาระบบงาน การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล การหาแหล่งเงินทุน การบริหารทรัพย์สินและการประมูลงาน ยกระดับประสิทธิภาพระบบงาน ลดขั้นตอน รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใสและตรวจสอบได้.