คปภ.ผนึกสิงคโปร์เสริมแกร่งประกันภัยไทย
คปภ.จับมือธนาคารกลางสิงคโปร์ พัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยสู่มาตรฐานสากล พร้อมเซ็น MOU แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัล
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวภายหลังลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับธนาคารกลางแห่งสิงคโปร์ ว่า นับเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมบูรณาการความร่วมมือด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านประกันภัย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือ การแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญระหว่างกัน เพื่อยกระดับบุคลากรประกันภัยให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สิงคโปร์ถือเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีโครงสร้างตลาดประกันภัยที่ดีเยี่ยม และมีการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่ดีตามมาตรฐานสากล โดยจากข้อมูลผลของการประเมิน FSAP ของสิงคโปร์ พบว่าอยู่ในลำดับที่ดีมากเมื่อเทียบกับระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นภายใต้ MOU จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมประกันภัย ของทั้ง 2 ประเทศ
สำหรับการลงนามฯครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกและครั้งประวัติศาสตร์ของ 2 หน่วยงาน และถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยของภูมิภาคอาเซียน ให้มีความแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งภาคธุรกิจทุกประเภท รวมถึงภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเอง จะต้องเผชิญและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือเข้าด้วยกัน เพื่อนำเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาการกำกับดูแลที่ดี ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และทันต่อเหตุการณ์ในยุคดิจิทัล มีการคุ้มครองผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยอย่างเป็นธรรม ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ส่งผลให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการใช้ระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวอีกว่า การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน นอกจากจะส่งเสริมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทันสมัยระหว่างกันแล้ว จะทำให้สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาตนเองภายใต้ยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การนำองค์ความรู้จากประเทศสิงคโปร์ด้าน InsurTech มาพัฒนาการประกันภัย การกำกับและตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย รวมถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีทางด้านการประกันสุขภาพ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน Mr. Daniel Wang, Executive Director of Insurance Department, MAS ได้กล่าวชื่นชมมาตรการเชิงรุกของสำนักงาน คปภ. ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย ซึ่งมีระบบคุ้มครองผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยที่ดี คือ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยแห่งแรกในอาเซียน เพื่อลดปัญหาข้อพิพาทด้านการประกันภัยระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย
Mr. Daniel Wang กล่าวอีกว่า สำนักงาน คปภ. มีนโยบายที่ดีคือ การเข้าถึงด้านประกันภัยสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย (Microinsurance) ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของไทยมีอาชีพเกษตรกร โดยกรมธรรม์ที่น่าสนใจ เช่น การประกันข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การประกันภัยลำไย การประกันภัยทุเรียน เป็นต้น ซึ่งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ทำให้สามารถนำเอาระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยง และเป็นการให้บริการอย่างครบวงจร
นอกจากนี้ Mr. Daniel Wang ยังได้ให้เกียรติมาบรรยายวิชาการในงานสัปดาห์ประกันภัย ประจำปี 62 หัวข้อ Leveraging Technology in Health Insurance Industry ในวันที่ 27 ก.ย.62 ณ ห้องฟินิกซ์ 1 – 6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านประกันภัย ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ (Data analytics) และนวัตกรรมด้านการประกันสุขภาพ เป็นการตอบสนองต่อสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในยุคปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการประกันสุขภาพ
“สำนักงาน คปภ. ได้จัดตั้ง ศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีในการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย (CIT) ซึ่งจะผนวกความร่วมมือกับการลงนาม MOU ในครั้งนี้ เพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับ MAS สิงคโปร์ ที่มีระบบการจัดการด้านเทคโนโลยีทางด้านประกันภัยที่ดีเยี่ยม และนำมาประยุกต์ใช้กับระบบประกันภัยไทยได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเป็นการยกระดับความร่วมมือโดยการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำกับดูแลและการส่งเสริมความรู้ระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศในอนาคต โดยหากเกิดการจัดตั้งบริษัทประกันภัยข้ามพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ที่มาลงทุนในไทย หรือบริษัทประกันภัยของไทยที่ไปลงทุนในสิงคโปร์ จะเกิดความร่วมมือด้านการกำกับดูแลและตรวจสอบบริษัทประกันภัยในรูปแบบ supervisory college เพื่อให้การกำกับตรวจสอบมีประสิทธิภาพ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยร่วมกันต่อไป” เลขาธิการ คปภ. ย้ำ.