เผย Cash Back 15% ทำบัตรเครดิตป่วน!
“อุตตม” ยันไม่ทิ้งให้ “ชิมช้อปใช้” เสียของแน่! หลังปั่นกระแสสูงจนสังคมไทยตื่นตัว ระบุเตรียมจับมือกระทรวงท่องเที่ยวฯ อัดแคมเปญหนุนต่อเนื่อง เผยไม่ชี้ชัด! มาตรการนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหนุนจีดีพีโตเท่าไหร่? หวังแค่เห็นคนไทยใช้จ่ายเงิน แฉ! มาตรการ Cash Back 15% ทำวงการแบงก์พาณิชย์ป่วน หลังคาดยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหดตัวแรงแน่
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่กำลังกลายเป็น “กระแสสูง” ของสังคมไทยในขณะนี้ เนื่องจากมีผู้สนใจสมัครลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์วงเงิน 1,000 บาท และสิทธิ์รับคืนเงินอีก 15% จนยอด 4 วันแรกของการเปิดลงทะเบียนฯ เต็มครบ 1 ล้านคนทุกวัน และมีแนวโน้มใช้เวลาในการลงทะเบียนจนเต็มจำนวน 1 ล้านคนในแต่ละวัน เร็วกว่ากำหนด และล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ย.62 พบว่า มียอดผู้สมัครลงทะเบียนฯเต็มจำนวน 1 ล้านคนของวัน ตั้งแต่เวลา 06.40 น.แล้ว โดยย้ำว่า กระทรวงการคลัง คงต้องรอดูผลการทำงานของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ว่าจะก่อประสิทธิผลอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เร็วเกินไปหากจะบอกว่ามาตรการดังกล่าวประสบผลสำเร็จหรือไม่? อย่างไร? และจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จนทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตขึ้น จนอยู่ในระดับ 3% หรือมากกว่านั้น
“สิ่งที่เราอยากเห็นมากกว่าการผลักดันให้จีดีพีเติบโตก็คือ ภาพของการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการชิม การช้อป การใช้ ของคนไทย เพราะสิ่งนี้เป็นภาพสะท้อนความเป็นจริง สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยได้อย่างเป็นอย่างดี” รมว.คลังย้ำ และว่า
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรการ “ชิมช้อปใช้” อยู่ในความสนใจของคนไทย จนกลายเป็นกระแสการตื่นตัวในการลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ฯข้างต้น จำเป็นที่กระทรวงการคลังจะต้องสานต่อ โดยขณะนี้ ได้หารือกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทำการต่อยอดโครงการจากมาตรการนี้ไปบ้างแล้ว ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯเอง ก็มีแผนจะสร้างแรงจูงใจให้กับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว
ต่อเนื่องกับมาตรการ “ชิมช้อปใช้” มีการตั้งข้อสังเกตในวงการธนาคารพาณิชย์ตามมาว่า ในช่วงระยะ 2-3 เดือนของมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของการคืนเงิน (Cash Back) 15% นั้น อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทั้งในรูปของเงินสด รวมถึงใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตและเครดิตของนักท่องเที่ยว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวกับเว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS ว่า แนวโน้มก็น่าจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะ รมว.คลังเอง ก็คาดหวังจะเห็นประชาชนที่สมัครเข้าร่วมมาตรการ “ชิมช้อปใช้” จะใช้จ่ายเงินของตัวเองผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพื่อรับสิทธิ์คืนเงิน 15% รวมกันไม่เกิน 4,500 บาท ซึ่งตรงนี้ เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วงเงินที่กระทรวงการคลังกำหนดขั้นต่ำให้มีการคืนเงิน 15% แต่ร่วมกันต้องไม่เกิน 4,500 บาทนั้น หากคำนวณกลับไปยัง “ต้นเงิน” ที่ 30,000 ล้านบาทแล้ว ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มคนที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพื่อการท่องเที่ยว แม้ว่าจำนวนคนทั้ง 10 ล้านคนที่เข้าร่วมมาตรการนี้ จะเป็นกลุ่มคนเดียวกับผู้ถือบัตรเครดิตไม่มากนัก และโอกาสที่คนเหล่านั้น จะโอนเงินไปไว้ในแอปฯ “เป๋าตัง” ก็คงมีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และในจำนวนคนที่โอนเงินเข้าไปใช้จ่ายตามมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ไม่น่าจะโอนเต็มจำนวนที่ 30,000 บาทอย่างแน่นอน
กระนั้น นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ นักการเงินและการธนาคาร ต่างเห็นตรงกันว่า มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ในส่วนของ Cash Back 15% จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตอย่างแน่นอน และสิ่งนี้ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า บรรดาธนาคารพาณิชย์เจ้าของบัตรเครดิตเหล่านั้น จะมีมาตรการรองรับผลกระทบข้างต้นอย่างไรบ้าง? โดยเฉพาะหากมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ได้รับการขยายผล ทั้งในเชิงของการขยายระเวลา และการเพิ่มจำนวนคนจาก 10 ล้านคน.