คลังปรับใหญ่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สรรพากรยอมเฉือนเนื้อ ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปี ยอมสูญรายได้ 3.2 ล้านบาท แต่มั่นใจประชาชนผู้เสียภาษีกว่า 8 ล้านคนได้รับประโยชน์
“ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 เม.ย.59 ได้เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กรมสรรพากรได้ศึกษาเอาไว้อย่างดี เพราะให้คนชั้นกลางซึ่งเป็นผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีความสุข เพราะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่” นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวและกล่าวว่า
“การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางลงมา โดยโครงสร้างภาษีใหม่ จะทำให้มนุษย์เงินเดือน จากเดิมที่รายได้ไม่เกินเดือนละ 20,000บาท ไม่ต้องเสียภาษี เพิ่มขึ้นเป็นรายได้เดือนละไม่เกิน 26,000 บาท ไม่เสียภาษี โดยจะมีผลตั้งแต่ปีภาษี 2560 และยื่นแบบภาษีในระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.2561”
ทั้งนี้ กรมสรรพากรคาดว่าการเพิ่มค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามมติ ครม.ในครั้งนี้ จะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ 32,000 ล้านบาท แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร เพราะเงินในกระเป๋าของประชาชนที่เพิ่มขึ้น จะไหลกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนอีกหลายเท่าตัว โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)
ด้าน นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่าการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินบุคคลธรรมดาในครั้งนี้ จะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ประมาณ 32,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่จะได้กลับคืนมาคือ ผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ของประเทศจะมีภาระภาษีที่ลดน้อยลง ทั้งนี้ในปีภาษี2558 ที่ยื่นภาษีระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.2559 พบว่า มีผู้เสียภาษีมายื่นแบบทั้งหมด 8.8 ล้านคน แต่หากนำโครงสร้างภาษีใหม่มาเปรียบเทียบกับโครงสร้างภาษีเดิมจะพบว่า ผู้เสียภาษีเงินได้ที่มีเงินได้สุทธิ ตั้งแต่ 0-300,000 บาท มีอยู่ประมาณ 7.2 ล้านคน และผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 300,001 แต่ไม่เกิน 500,000 บาท มีอยู่ประ มาณ 800,000 คน จะเสียภาษีน้อยลง หรือบางรายไม่เสียภาษีเลย และหากนำผู้ที่มีเงินตั้งแต่ 0 บาทแต่ไม่เกิน 500,000 บาท มารวมกัน จะพบว่า มีผู้เสียภาษีที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ถึง8 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมด 8.8 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ประชาชน (กรณีโสด) ที่มีรายได้ไม่เกิน 26,000 บาทต่อเดือนไม่ต้องเสียภาษี
“โครงสร้างภาษีเงินบุคคลธรรมดาใหม่ จะมีผลบังใช้ในปี 2560 และต้องยื่นภาษีระหว่างเดือน ม.ค-มี.ค.2561 นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังเสนอเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีให้แก่บริษัทที่ลงทุนทางด้านงานวิจัย หรืออาร์แอนด์ดี ซึ่งสามารถทำได้ 2 กรณีคือ 1.หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (กรณีเหมาจ่าย) และ 2.นำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ตามความสมควร (กรณีนี้ ต้องมีใบกำกับภาษีมาแสดงเป็นหลักฐาน) เป็นต้น“
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า แม้ผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีนี้ อาจจะต่ำกว่าเป้าหมาย ก็เราก็ไม่ได้เป็นห่วงเรื่องรายได้จากการปรับปรุงโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ เพราะในอนาคตกรมสรรพากรมั่นใจว่าจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากโครงการบัญชีเล่มเดียวและโครงการ e-payment ไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท
สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ ประกอบด้วย การปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า และอื่นๆ ที่เป็นเงินได้พึงประเมิน จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 40% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 60,000บาท ขยายเพิ่มเป็นไม่เกิน 100,000 บาทหรือ 50% ของเงินได้พร้อมปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินในส่วนค่าลิขสิทธิ์ จากเดิมนำไปหักได้ไม่เกิน 60,000 บาท หรือ 40% ของค่าลิขสิทธิ์ ขยายเพิ่มให้สามารถหักค่ากู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ได้ไม่เกิน 100,000 บาท หรือ 50% ของเงินได้ดังกล่าว
นอกจากนี้ยังปรับปรุงการหักค่าลดหย่อนส่วนตัวจากเดิม 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสจากเดิม 30,000 บาทเพิ่มเป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท จำนวนไม่เกิน 3 คัน เปลี่ยนเป็น 15,000 บาท ไม่จำกัดจำนวน โดยให้ยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตรจากเดิมให้หักลดหย่อนคนละ 2,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้มีบุตรมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุจะได้มีคนทำงานมาทดแทนผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ในกรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท ส่วนกองมรดกเดิมจากหักลด หย่อนได้ 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท และห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลเดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันไม่เกิน 60,000 บาท เพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาทรวมกันไม่เกิน 120,000 บาท
ส่วนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมได้ปรับปรุงระบบขั้นเงินได้และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับขั้นสูงสุดด้วย โดยจากเดิมผู้มีเงินได้ 4,000,000 บาทขึ้นไปเสียภาษี 35% ปรับเป็น ผู้มีเงินได้ 5,000,001 บาทขึ้นไปเสียภาษี 35% ซึ่งส่วนนี้มีอยู่ประมาณ 20,000 คน ส่วนผู้มีเงินได้ช่วงระหว่าง 4,000,000-5,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 30% ส่วนขั้นอื่นเสียในอัตราเดิมทำให้อัตราภาษใหม่ที่ต้องเสียเป็นดังนี้ คือ รายได้ 1-300,000 บาท เสียภาษี 5% รายได้ 300,001-500,000 บาทเสียภาษี 10% รายได้ 500,001-750,000 บาท เสียภาษี 15% รายได้ 750,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20% รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท เสียภาษี 25% และรายได้ 2,000,001-5,000,000 บาท เสียภาษี 30% และ 5,000,001บาทขึ้นไปเสียภาษี 35%.