เกษตรกร 4.0 ไม่ใช่แค่ฝัน! วิทยาศาสตร์ฯ
เกษตรกร 4.0 ไม่ใช่แค่ฝัน! วิทยาศาสตร์ฯ มธ. โชว์ “สมาร์ทฟาร์มคิท” นวัตกรรมที่เกษตรกรไทยทุกคนเข้าถึงได้ ด้วยต้นทุนต่ำสุดเพียง 1,000 บาท !!
กรุงเทพฯ 26 เมษายน 2560 – คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัว “สมาร์ทฟาร์มคิท” ชุดอุปกรณ์ควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ เสริมแกร่งเกษตรกรไทยยุค 4.0 รับภัยแล้ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านส่วนประกอบ 3ส่วน คือ 1) ระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ การสั่งเปิด-ปิดระบบรดน้ำพืชผลในแปลงเกษตร พร้อมตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำได้ตามต้องการ 2)ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ การตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นในดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 3) ระบบสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนการติดตามผล พร้อมสั่งรดน้ำและให้ปุ๋ยแก่พืชตามต้องการ ทั้งนี้ สมาร์ทฟาร์มคิท ช่วยควบคุมปริมาณการใช้น้ำตามเวลาที่กำหนดทำให้ช่วยลดการใช้น้ำในการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า และยังถือเป็นการกระจายองค์ความรู้นวัตกรรมเพื่อประยุกต์ใช้จริงในการเกษตรด้วยต้นทุนที่ต่ำที่เกษตรกรเข้าถึงได้ โดยเกษตรกรสามารถหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาประกอบเองได้ในงบประมาณเริ่มต้น 1,000 บาท สามารถใช้กับพื้นที่แปลงเกษตรขนาด 1 ตารางกิโลเมตร หรือ 625 ไร่ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในแปลงเกษตร
สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถขอรับคำปรึกษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ 089-446-1900 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4482 (สาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน) และ 02-564-4488 (สาขาเทคโนโลยีการเกษตร) หรือเข้าไปที่ www.sci.tu.ac.th
รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า “ช่วงน้ำแล้ง” ถือเป็นมหันตภัยร้ายของเกษตรกรไทยที่จะต้องประสบในทุกๆ ปี เนื่องจากเมื่ออยู่ในภาวะน้ำแล้ง การสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นย่อมเป็นไปได้ยาก ดังนั้น เกษตรกรไทยยุคใหม่ จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ สู่ “เกษตรกรไทย 4.0” ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนยีเข้ากับวิถีการเกษตรได้อย่างชาญฉลาด อีกทั้งยังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการขจัดปัญหาการสูญเสียทรัพยากรต่างๆ โดยไม่จำเป็น พร้อมทั้งยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น โดยล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่นวัตกรรมใหม่ที่เอื้อประโยชน์แก่สังคม จึงได้วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ “สมาร์ทฟาร์มคิท” ชุดอุปกรณ์ควบคุมระบบรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ เพื่อเสริมแกร่งเกษตรกรไทยผ่านการกระจายองค์ความรู้ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรม และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการเกษตร อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่ว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์…มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”
รศ.ดร. สุเพชร จิรขจรกุล สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า จากการเล็งเห็นถึงปัญหาของระบบการจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งของเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ที่จะต้องสูญเสียเวลา และค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปกับการจัดการต่างๆ เพื่อบำรุงดินและผลผลิตทางการเกษตร คณาจารย์ในทีมวิจัยฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ “สมาร์ทฟาร์มคิท (Smart Farm Kit)” ระบบควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ ที่เกษตรกรไทยยุค 4.0 สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่เกษตรของตนได้ เพื่อเป็นการลดความสูญเสียดังกล่าว ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างทีมนักวิจัยใน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน และเทคโนโลยีการเกษตรเข้าด้วยกัน โดยระบบสมาร์ทฟาร์มคิททำให้ระบบมีการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงสามารถช่วยลดการใช้น้ำในการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า
รศ.ดร. สุเพชร กล่าวต่อว่า สำหรับชุดอุปกรณ์สมาร์ทฟาร์มคิท เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 อุปกรณ์ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ โดยภายในจะมีบอร์ดไมโครคอนโทลเลอร์ที่ช่วยควบคุมอุปกรณ์เปิด-ปิดไฟฟ้า (Relay) ที่ทำหน้าที่เปิดปิดวงจรไฟฟ้าในชนิดเดียวกับสวิตซ์ไฟฟ้า โดยจะสามารถสั่งเปิด-ปิดปั๊มน้ำ สำหรับรดน้ำผักในแปลงเกษตรได้ อีกทั้งยังสามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำได้ตามความต้องการของชนิดพืช ยกตัวอย่างเช่น สั่งเปิดระบบไฟฟ้าของปั๊มน้ำทุกๆ 8.00 น. โดยรดน้ำเป็นเวลา 5 นาที เป็นต้น ทำให้ช่วยลดความกังวลที่เกษตรกรต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวัน ไม่มีเวลาดูแลรดน้ำพืชผล ก็ให้ใช้อุปกรณ์รดน้ำอัตโนมัติช่วยควบคุมการรดน้ำได้
- ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ จะเป็นการตรวจวัดปัจจัยสภาพแวดล้อมของแปลงเกษตรใน 2 รูปแบบ คือ 1) การตรวจวัดอุณหภูมิ ในกรณีที่สภาพแวดล้อมของแปลงมีอุณหภูมิเกินที่กำหนด เช่น อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศา ระบบจะทำการสั่งเปิดปั๊มน้ำเป็นระบบน้ำหยด หรือ สปริงเกลอร์ จนกว่าอุณหภูมิจะลดระดับ 2) การวัดความชื้นในดิน ในกรณีที่ตรวจพบความชื้นในอากาศต่ำกว่าที่กำหนด เช่น ความชื้นในดินที่ต่ำกว่า 50% ระบบก็จะสั่งรดน้ำโดยอัตโนมัติ
- ระบบสั่งการและแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน จะเป็นการส่งข้อความแจ้งเตือน พร้อมแสดงผลสภาพอากาศบริเวณพื้นที่แปลงเกษตร ผ่านระบบ Line Notify บนสมาร์ทโฟนของเกษตรกร เช่น อุณหภูมิที่ร้อน ความชื้นในดินที่แล้ง และปริมาณน้ำที่ลดน้อยลง ฯลฯ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพ และประหยัดเวลาของเกษตรในการควบคุมและสั่งเปิด-ปิดระบบรดน้ำปุ๋ย รวมถึงน้ำสมุนไพรสำหรับป้องกันแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนหาแนวทางการป้องกันและกำจัดโรคให้ทันท่วงที เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร
ทั้งนี้ สมาร์ทฟาร์มคิท ถือเป็นการกระจายองค์ความรู้นวัตกรรม เพื่อประยุกต์ใช้จริงในการเกษตรด้วยต้นทุนต่ำที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ โดยสามารถหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำมาประกอบเองได้ในงบประมาณ 1,000 บาท หรือหากในกรณีที่เกษตรกรไม่มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีพื้นฐาน สามารถขอคำแนะนำ และเข้ามาศึกษาดูงานที่แปลงสาธิตเกษตรฯ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอุปกรณ์สมาร์ทฟาร์มคิท 1 ชุด สามารถใช้กับพื้นที่แปลงเกษตรขนาด 1 ตารางกิโลเมตร หรือ 625 ไร่ ซึ่งโดยปกติหากเกษตรต้องการติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติ พร้อมติดตามผลสภาพอากาศของพื้นที่เกษตร อาจจะมีค่าใช้จ่ายอุปกรณ์และค่าดำเนินการติดตั้งราคาสูง ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่สนใจชุดอุปกรณ์สมาร์ทฟาร์มคิท สามารถขอรับคำปรึกษาได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอดูงานที่แปลงสาธิตเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต และให้คำแนะนำการเลือกซื้อและการใช้งานอุปกรณ์ได้ฟรีเช่นกัน รศ.ดร. สุเพชร กล่าว
ดังนั้น การที่เกษตรกรไทย จะก้าวสู่เกษตรกร ยุค 4.0 จึงไม่ใช่แค่ความฝัน เพราะในปัจจุบันเกษตรกรไทยมีความใกล้ชิดกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เป็นอย่างมาก จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมให้ในหลายภาคส่วนนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ หากแต่เกษตรกรในบางกลุ่ม ยังมีข้อจำกัดในการนำเทคโนโลยีดังกล่าว เข้ามาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับวิถีการทำการเกษตร ซึ่งหากเกษตรกรมีความกระตือรือร้นเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่เกษตรของตนได้อย่างหลากหลาย นับตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่ทีมคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รวมตัวกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรยุค 4.0 ด้วยการใช้เทคโนโลยียืดอายุ พร้อมคงความสดให้กับอาหาร จากแปลงเกษตรไปสู่ตลาดรับซื้อ ที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากการแปรรูปอาหารหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่ตลาดใหม่หรือตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รศ.ดร. สุเพชร กล่าวทิ้งท้าย
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4482 (สาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน) และ 02-564-4488 (สาขาเทคโนโลยีการเกษตร) หรือเข้าไปที่ www.sci.tu.ac.th